ซูเปอร์เอิร์ธ สุดยอดดาวเคราะห์คล้ายโลก

ที่ผ่านมานักวิทยาศาสตร์ทั้งหลายต่างพากันตามหาดาวเคราะห์ที่คล้ายโลกกันมานานแล้ว เพราะไม่เพียงแต่ดาวเคราะห์ดวงนั้นอาจใช้เป็นที่ใช้ตั้งรกรากในอนาคตได้เท่านั้น แต่การที่พบดาวเคราะห์ที่มีสภาพแวดล้อมคล้ายคลึงกับโลกยังแสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้ว่ามันอาจจะมีสิ่งมีชีวิตบนดาวดวงนั้นได้เช่นเดียวกัน
.

ซึ่งที่ผ่านมาพวกเรา eduHUB ก็เคยนำเสนอเรื่องราวของดาวเคราะห์คล้ายโลกมาแล้วมากมาย แต่วันนี้เราจะมาพูดกันถึงเรื่องของดาวเคราะห์ที่ได้ชื่อว่าเป็น “ซูเปอร์เอิร์ธ” (Super earth) กัน ซึ่งคำว่าซูเปอร์เอิร์ธนี้ ไม่ได้หมายความว่าดาวดวงนั้นมีคุณสมบัติพิเศษเหนือโลกเราแต่อย่างใด แต่หมายถึงดาวเคราะห์คล้ายโลกที่มีมวลมากกว่าโลก แต่ไม่มากถึงขนาดดาวแก๊สยักษ์นั่นเอง แต่ซูเปอร์เอิร์ธที่เราเลือกมาให้ทั้ง 4 ดวงนี้จะมีดาวอะไรบ้างนั้น ก็ต้องไปตามดูกันเลยค่ะ
.

1.LHS1140b

ถึงแม้ดาวเคราะห์ดวงนี้จะได้ชื่อว่าเป็นดาวเคราะห์คล้ายโลก แต่มันก็ไม่ได้เป็นสีฟ้าเหมือนโลกของเราแต่อย่างใด เพราะดาวดวงนี้เป็นดาวเคราะห์สีแดงที่ตั้งอยู่ห่างออกไปจากโลก 40 ปีแสง (ซึ่งในทางดาราศาสตร์ก็ถือว่าไม่ไกลเท่าไหร่นัก) โดยขนาดของมันใหญ่กว่าโลกถึง 1.4เท่า และมีมวลมากกว่าโลก 7 เท่า อีกทั้งยังเป็นดาวที่อยู่ในเขตที่สิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ได้ (Habitable Zone) ดังนั้นจึงอาจมีน้ำอยู่บนพื้นผิวด้วย
.

และเช่นเดียวกับโลกที่โคจรรอบดวงอาทิตย์ ดาวซูเปอร์เอิร์ธดวงนี้ก็โคจรรอบดาวฤกษ์ของมันเช่นเดียวกัน โดยดาวฤกษ์ดวงนั้นเป็นดาวแคระแดงในกระจุกดาวซีตัส (Cetus) หรือกลุ่มดาววาฬ มีขนาดเล็กกว่าและอุณหภูมิต่ำกว่าดวงอาทิตย์มาก ดังนั้นต่อให้ซูเปอร์เอิร์ธดวงนี้อยู่โคจรอยู่ใกล้ดาวฤกษ์ของมันถึงหนึ่งในสิบของระยะทางจากโลกไปดวงอาทิตย์ มันก็ยังได้รับแสงสว่างจากดาวฤกษ์เพียงแค่ครึ่งเดียวของที่โลกที่ได้จากดวงอาทิตย์เท่านั้น 
.

แต่ความน่าสนใจของซูเปอร์เอิร์ธยังไม่หมดเพียงเท่านี้ เพราะจากการศึกษายังพบว่าดาวดวงนี้มีอายุถึงประมาณ 5 พันล้านปี ซึ่งจากความคิดเห็นของเจสัน ดิทท์แมนน์ (Jason Dittmann) ผู้เชี่ยวชาญเเห่งศูนย์ดาราศาสตร์ฟิสิกส์ฮาร์วาร์ดสมิธโซเนี่ยน (Harvard-Smithsonian) ก็มองว่าระยะเวลาเท่านี้ก็นานพอที่สิ่งมีชีวิตอาจจะถือกำเนิดขึ้นบนดาวดวงนั้นและพัฒนาจนมีระดับสติปัญญาพอสมควรแล้วด้วย (ถ้าเราสามารถเดินทางไปพบสิ่งมีชีวิตบนดาวดวงนั้นได้น่ะนะ)
.

2.K2-18b

ถึงแม้ว่าชื่อ K2-18b อาจจะฟังดูแปลกและจำยากแล้ว แต่ก็คงไม่ยากเท่าชื่อเดิมของมัน นั่นคือ EPIC 201912552 b โดยเจ้าซูเปอร์เอิร์ธดวงนี้เป็นดาวเคราะห์นอกระบบที่อยู่ห่างจากโลก 111 ปีแสง ซึ่งพอมีการเปลี่ยนชื่อ ตัวอักษรตัวแรกของมันจึงเปลี่ยนเป็นตัว K ตามชื่อของกล้องที่ค้นพบดาวดวงนี้ นั่นคือกล้องโทรทรรศน์อวกาศเคปเลอร์ (Kepler) ที่ค้นพบมันในปี 2015 ซึ่งในตอนแรกเคปเลอร์กำลังติดตามเฝ้าดูดาวแคระแดง K2-18 อยู่ แล้วก็บังเอิญเจอเจ้าซูเปอร์เอิร์ธดวงนี้โคจรอยู่รอบๆ เข้า เลยตั้งชื่อมันต่อจากดาวแคระแดง K2-18 เป็นดาว K2-18b เสียเลย
.

แล้วจากการศึกษาพบว่าเจ้าซูเปอร์เอิร์ธดวงนี้มีมวลมากกว่าโลกถึง 8 เท่า แต่ด้วยมวลที่มากขนาดนี้ทำให้หลายคนกังวลว่ามันจะเป็นดาวเคราะห์น้ำแข็งที่แห้งแล้งเหมือนกับดาวเนปจูนหรือเปล่า แต่จากการคาดการณ์อุณหภูมิของดาวดวงนี้พบว่ามันน่าจะอยู่ที่ประมาณ -73 ถึง 46 องศาเซลเซียส อีกทั้งยังคาดว่าน่าจะมีไอน้ำระเหยอยู่ในชั้นบรรยากาศด้วย จึงน่าจะเอื้อให้เกิดสิ่งมีชีวิตบนดาวดวงนี้ได้
.

3.GJ 357 d 

สำหรับซูเปอร์เอิร์ธดวงนี้เป็นดาวเคราะห์ที่อยู่ในกลุ่มดาวไฮดรา (constellation Hydra) ค้นพบโดยโครงการดาวเทียมสำรวจและค้นหาดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะขององค์การนาซา (Transiting Exoplanet Survey Satellite – TESS) ซึ่งจากชื่อที่มีอักษรตัวเล็กห้อยท้ายอยู่ เพื่อนๆ ก็คงจะเดาได้แล้วใช่มั้ยคะว่าดาวฤกษ์ที่มันโคจรรอบอยู่ก็คือดาว GJ 357 นั่นเอง ซึ่งนอกจากดาว GJ 357 d แล้วก็ยังมีดาว GJ 357 b และ GJ 357 c โคจรอยู่รอบๆ ดาวฤกษ์ดวงนี้ด้วย
.

ดวงดาวทั้งหลายนี้อยู่ห่างจากระบบสุริยะของเราไป 31 ปีแสง โดยเจ้าซูเปอร์เอิร์ธ GJ 357 d ของเรามีมวลมากกว่าโลกถึง 6.1 เท่า โดยมันอาศัยอยู่ในระยะห่างจากดาวฤกษ์ที่เหมาะสม ทำให้เอื้อต่อการอยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิต แต่น่าเสียดายที่นักวิทยาศาสตร์ยังพิสูจน์ไม่ได้ว่าซูเปอร์เอิร์ธดวงนี้จะมีน้ำอยู่บนพื้นผิวหรือไม่ ตลอดจนอุณหภูมิของดาวดวงนี้จะเหมาะสมต่อการถือกำเนิดของสิ่งมีชีวิตหรือเปล่า แต่ที่เรารู้มาก็คือดาวฤกษ์ GJ 357 มีอุณหภูมิน้อยกว่าดวงอาทิตย์ ดังนั้นอุณหภูมิของซูเปอร์เอิร์ธ GJ 357 d เองก็อาจจะต่ำกว่าโลกด้วยเช่นกัน
.

4.K2-288Bb

ซูเปอร์เอิร์ธดวงนี้เคยมีชื่อเดิมว่า EPIC 210693462 b ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็น K2-288Bb เนื่องจากถูกค้นพบโดยกล้องโทรทรรศน์เคปเลอร์อีกเช่นเคยในปี 2019 โดยในคราวนี้เคปเลอร์ค้นพบมันได้ด้วยวิธี Transit  หรือก็คือการสังเกตดูระดับแสงของดาวฤกษ์ ถ้าหากแสงของมันลดความสว่างลงในชั่วครู่หนึ่งแสดงว่ามีดาวเคราะห์ที่โคจรอยู่รอบดาวฤกษ์ดวงนั้นโคจรผ่านหน้ากล้องทำให้แสงที่ถ่ายออกมาได้มืดลงชั่วขณะหนึ่ง
.

ซึ่งจากการศึกษาพบว่าดาวดวงนี้มีขนาดใหญ่เกือบ 2 เท่าของโลก และอาศัยอยู่ในระบบดาวคู่ของกลุ่มดาววัว (Taurus) ห่างจากโลกไป 226 ปีแสง โดยมันยังเป็นดาวอีกดวงที่อยู่ในเขตที่เอื้อต่อสิ่งมีชีวิต ดังนั้นจึงเป็นไปได้ว่าอาจจะมีน้ำอยู่บนนั้นด้วย แม้ว่าจะยังไม่มีการค้นพบแหล่งน้ำที่แน่ชัดก็ตาม
.

เป็นยังไงบ้างคะ สำหรับซูเปอร์เอิร์ธทั้ง 4 ดวงที่เราเอามาฝากเพื่อนๆ กัน เพื่อนๆ ชอบดาวดวงไหนเป็นพิเศษกันบ้างรึเปล่าคะ ถ้าชอบก็คอมเม้นต์มาพูดคุยกับพวกเรากันได้นะ และถ้าหากใครชื่นชอบบทความสาระดีดีอย่างนี้ ก็อย่าลืมกดไลก์และติดตามเฟซบุ๊กแฟนเพจ eduHUB ไว้ เพื่อจะได้ไม่พลาดบทความและคลิปใหม่ๆ ของพวกเราด้วยนะคะ ขอบคุณค่ะ

สนับสนุนโดย chatBEE แอพที่คนเหงาเค้าโหลดกัน ค้นหาคนรู้ใจใกล้คุณ โหลดเลยที่ chatBEE