ไขปริศนาหลุมอุกกาบาตที่ยาวนานกว่า 8 แสนปี!?

เพื่อนๆ รู้หรือไม่ว่าการที่ดวงจันทร์ ดาวพุธ หรือดาวดวงอื่นๆ มีผิวหน้าขรุขระ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะดวงดาวเหล่านั้นโดนอุกกาบาตชนจนเกิดเป็นหลุมเป็นบ่อขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าโลกเราเองก็ผ่านการโดนชนมาแล้วหลายครั้งเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นการชนครั้งใหญ่ที่เป็นต้นเหตุให้ไดโนเสาร์สูญพันธ์ หรือการชนจากอุกกาบาตเล็กๆ ที่ทิ้งรอยหลุมอุกกาบาตไว้บนพื้นดิน แต่หนึ่งในการชนที่น่าสนใจนี้เกิดขึ้นบริเวณที่ราบสูงโบลาเวนในประเทศลาวใกล้กับไทยเรานี่เอง โดยการชนที่ว่านี้กินพื้นที่สะเก็ดตกกว่า 10%-30% ของโลกและก่อให้เกิดหลุมอุกกาบาตขนาดมหึมา แต่จู่ๆ หลุมอุกกาบาตนั้นกลับหายไปอย่างไร้ร่องรอย จนแม้แต่นักวิทยาศาสตร์เองก็ยังหาคำตอบไม่ได้ว่าหลุมดังกล่าวหายไปไหน!?

อุกกาบาต

จริงๆ แล้วโลกของเราก็เหมือนกับดาวดวงอื่นๆ ในจักรวาล ที่บางครั้งบางคราวจะมีก้อนอุกกาบาตพุ่งเข้ามาชนจนเกิดเป็นหลุมขนาดใหญ่ขึ้น ซึ่งหนึ่งในหลุมอุกกาบาตที่น่าจับตามองคือหลุมที่เกิดจากการพุ่งชนของอุกกาบาตเมื่อ 8 แสนปีก่อน เพราะการชนครั้งนี้มีความยาวมากถึง 1.9 กิโลเมตร และมีสะเก็ดอุกกาบาตกระจายไปทั่ว ตั้งแต่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปจนถึงแอนตาร์กติกา แถมยังมีบริเวณที่สะเก็ดตกกินพื้นที่กว้างถึง 10-30% ของพื้นที่โลกอีกด้วย แต่เพราะผิวโลกของเรามีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา หรือที่เรียกกันว่า “ธรณีแปรสัณฐาน” ทำให้หลุมดังกล่าวหายไป

พูดง่ายๆ ก็คือเมื่อโลกของเราโดนอุกกาบาตชนจนเกิดเป็นหลุมเป็นบ่อ เมื่อเวลาผ่านไป บริเวณหน้าดินอาจมีการเคลื่อนตัวของผิวโลก มีภูเขาไฟระเบิด หรือมีแผ่นดินไหว ทำให้หน้าดินสมานกันจนแทบหาหลุมอุกกาบาตเหล่านั้นไม่เจอ ทำให้ถึงแม้นักวิทยาศาสตร์จะรู้ว่าโลกของเราเคยโดนอุกกาบาตชนมาก่อน แต่ก็หาไม่เจอว่าโดนชนที่ไหน จึงได้แต่คาดการณ์ไปตามผลการวิจัยที่ออกมาเท่านั้น 

หลุมอุกกาบาต

ตัดกลับมาที่ประเทศไทย ที่บริเวณภาคอีสาน เราจะพบหินหน้าตาแปลกๆ ที่เรียกกันว่า “อุลกมณี” ซึ่งเจ้าหินอุลกมณีนี้เป็นหินสีดำผิวมน บางคนก็เก็บไว้บููชาเป็นวัตถุมงคล เพราะเชื่อว่าเป็นอัญมณีศักดิ์สิทธิ์ของพระกฤษณะ ซึ่งนอกจากประเทศไทยแล้ว หินชนิดนี้ยังสามารถพบได้ในอีกหลายประเทศในเอเชีย ออสเตรเลีย หรือแอนตาร์กติกา ซึ่งพอเล่ามาถึงจุดนี้แล้วหลายคนคงคิดว่าหินอุลกมณีคือสะเก็ตของอุกกาบาตใช่มั้ยคะ? แต่จากการทดลองพบว่าหินอุลกมณีไม่ใช่สะเก็ตของอุกกาบาต! แต่เป็นหินที่ผ่านความร้อนสูงจนหลอมกลายเป็นแก้ว สันนิษฐานว่าตอนที่อุกกาบาตพุ่งชนโลก ได้เกิดแรงกระแทกมหาศาล ทำให้เกิดความร้อนสูงจนหินหลอมเหลว ก่อนที่หินเหล่านั้นจะกระเด็นขึ้นฟ้าและเย็นตัวลงจนเกิดเป็นหินอุลกมณีขึ้น

หินอุลกมณี
ภาพหินอุลกมณี – ขอขอบคุณภาพประกอบจากเว็บไซต์ thaiastro.nectec.or.th

และเจ้าหินอุลกมณีนี้เองที่ทำให้นักวิทยาศาสตร์เริ่มสันนิฐานกันว่า การที่อุกกาบาตจะสามารถชนโลกจนหินหลอมละลายกลายเป็นแก้วได้ขนาดนี้ อุกกาบาตลูกนั้นต้องใหญ่มากและน่าจะทิ้งหลุมอุกกาบาตขนาดมหึมาไว้ที่ไหนสักแห่งด้วย เหล่านักวิทยาศาสตร์เลยพากันค้นหาหลุมดังกล่าวเป็นเวลานานกว่าหนึ่งศตวรรษ จนในที่สุดดร.ซีป (Sieh) และคณะก็เจอหลุมอุกกาบาตดังกล่าวเข้าจนได้! ซึ่งในการหาหลุมอุกกาบาตนี้ ดร.ซีปได้ใช้วิธีการหาอายุขัยของหินภูเขาไฟในประเทศลาว ก่อนจะพบว่าพวกมันมีอายุน้อยกว่าเจ็ดแสนแปดหมื่นปี และเมื่อวัดสนามความโน้มถ่วงเพื่อวิเคราะห์โครงสร้างใต้ดินดู ก็พบว่ามีพื้นที่รูปวงรีขนาด 13×18 กิโลเมตร และลึก 90 เมตร ซ่อนตัวอยู่ใต้ดิน จึงเป็นไปได้ว่ามันอาจเป็นหลุมอุกกาบาตขนาดใหญ่

ภาพแสดงจุดที่มีภูเขาไฟในประเทศลาว

และเมื่อดร.ซีปตรวจสอบองค์ประกอบทางเคมีของหินภูเขาไฟในบริเวณนี้ดูก็พบว่ามันตรงกับหินอุลกมณีเป๊ะ! จึงสามารถสรุปได้ว่าที่นี่เคยมีอุกกาบาตพุ่งชนเมื่อ8แสนปีก่อน หลังจากนั้นภูเขาไฟก็ระเบิดจนลาวาไหลลงมาปิดหลุมนี้ไว้ทำให้ไม่มีใครหาเจอ

ในที่สุดปริศนาหลุมอุกกาบาตที่หายไปกว่า8แสนปีก็ถูกเปิดเผย แต่การค้นพบนี้เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น ซึ่งในอนาคตนักวิทยาศาตร์จะค้นพบความลับอะไรของโลกต่อไปก็ต้องมารอดูกัน ถ้าใครชอบบทความสาระดีดีอย่างนี้ ก็อย่าลืมกดติดตามและกดกระดิ่งช่อง eduHUB กันด้วยนะคะ