อิหร่านกับความสำเร็จของการพัฒนางานด้านอวกาศ
อิหร่านหรือที่เรารู้จักกันในชื่อ เปอร์เซีย ก่อนปีคริสต์ศักราช 1935 เป็นหนึ่งในอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลกยุคโบราณ และประเทศได้รักษาเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่แตกต่างกันในโลกอิสลาม โดยพยายามที่จะรักษาภาษาของตนเองและยึดมั่นในอุดมคติที่จะไม่ยอมให้ประเทศอื่น ๆ เข้าไปแทรกแซงกิจการภายในประเทศของตนได้ สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจของประเทศอิหร่านคือ ความก้าวหน้าและการพัฒนาด้านเทคโนโลยี ที่อยู่ภายใต้สภาวะ ที่ถูกกลุ่มประเทศนานาชาติหวาดระแวง และกดดันอย่างหนักในทุก ๆ ด้าน ถึงแม้ว่าจะเป็นเช่นนั้น แต่อิหร่านก็ยังสามารถพัฒนางานด้านอวกาศของตนเองได้ดีขึ้นเรื่อย ๆ วันนี้พวกเรา eduHUB จะพาผู้ชมทุกท่านไปรับชมความสำเร็จของการพัฒนางานด้านอวกาศของประเทศอิหร่านที่ผ่านมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน แต่ก่อนที่จะไปรับชมกัน อย่าลืมกดติดตามและกดกระดิ่งช่อง eduHUB ไว้ เพื่อเป็นกำลังใจให้กับพวกเราด้วยนะครับ
การพัฒนางานด้านอวกาศของประเทศอิหร่านเริ่มต้นขึ้นครั้งแรก เมื่ออิหร่าน ออกมาประกาศความทะเยอทะยานในการสำรวจอวกาศต่อสาธารณชนเมื่อปีคริสต์ศักราช 1970 ซึ่งถือเป็นใบเบิกทางแรก อันนำไปสู่การจัดตั้งโครงการอวกาศแห่งชาติด้วยความร่วมมือของรัสเซียในปีคริสต์ศักราช 2002 จากคำสั่งของประธานาธิบดีอิหร่านในขณะนั้น Mohammad Khatami (โม-ฮัม-เหม็ด-คา-ตา-มิ) และในที่สุดด้วยความตั้งใจและความทะเยอทะยานของอิหร่านก็ทำให้พวกเขาสามารถจัดตั้ง “องค์การอวกาศอิหร่าน” หรือ The Iranian Space Agency (ดิ-อิ-ราน-เนี่ยน-สะ-เปซ-เอ-เจน-ซี่) ขึ้นมาเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ศริสต์ศักราช 2004 ตามกฎหมายที่ได้รับอนุมัติ องค์การอวกาศอิหร่านได้รับคำสั่งให้ครอบคลุมและสนับสนุนกิจกรรมทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการใช้งานอย่างสงบสุขของวิทยาศาสตร์ อวกาศ และเทคโนโลยี ภายใต้การนำของสภาสูงสุดแห่งอวกาศ ซึ่งมีประธานาธิบดีอิหร่านเป็นประธาน โดยเป้าหมายหลักของสภาสูงสุดแห่งอวกาศ คือการกำหนดนโยบายสำหรับการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอวกาศ เพื่อการใช้พื้นที่นอกโลกอย่างสงบสุข การผลิต การเปิดตัว และการใช้ดาวเทียมวิจัยระดับชาติ อนุมัติโครงการอวกาศที่เกี่ยวข้องกับภาครัฐและภาคเอกชน ส่งเสริมความร่วมมือของภาคเอกชนและสหกรณ์ ในการใช้พื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงระบุแนวทางที่เกี่ยวข้องกับความร่วมมือระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศในประเด็นอวกาศ และเพื่อเป็นการติดตาม ดำเนินการตามยุทธศาสตร์ที่กำหนดโดยสภา ประธานาธิบดีแห่งองค์การอวกาศอิหร่าน จะได้ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศ และสำนักเลขาธิการสภาสูงสุดแห่งอวกาศในเวลาเดียวกัน
”อ่านทั้งหมด”
”ย่อลง”
ความสำเร็จครั้งแรกของการพัฒนางานด้านอวกาศของอิหร่านเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม คริสต์ศักราช 2005 โดยพวกเขาได้ทำการเปิดตัวดาวเทียม Sinah-1 (ชิ-น่า-วัน) ในรัสเซียตอนเหนือ ดาวเทียมดังกล่าวถูกปล่อยจากจรวด Cosmos-3 (คอส-มอส-ทรี) ของรัสเซีย ในฐานะโครงการร่วมระหว่างอิหร่านและรัสเซีย โดยโครงการนี้มีมูลค่าถึง 15 ล้านดอลลาร์สหรัฐ การเปิดตัวของชิน่าวันนี้เหมือนเป็นการจุดประกายความขัดแย้งในสื่อตะวันตกบางแห่งที่สงสัยว่า ดาวเทียมดวงนี้จะสามารถใช้ในการสอดแนมได้ แต่ผู้เชี่ยวชาญทางเทคนิคกล่าวว่า กล้องของดาวเทียมดวงนี้อาจไม่มีกำลังเพียงพอที่จะมีประสิทธิภาพในการจารกรรม
วันที่ 3 กุมภาพันธ์ คริสต์ศักราช 2009 อิหร่านประสบความสำเร็จในการส่งดาวเทียมดวงที่สองขึ้นสู่วงโคจร นั่นคือดาวเทียม Omid (อุ-มิด) ซึ่งเป็นดาวเทียมประมวลผลข้อมูลเพื่อการวิจัยและโทรคมนาคม ที่ผลิตในประเทศตนเอง การเปิดตัวดาวเทียมดวงที่สองนี้ ทำให้อิหร่านกลายเป็นประเทศที่ 9 ในการสร้างดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจร หลังจากนั้นอิหร่านก็สามารถส่งดาวเทียมขึ้นไปได้อีกสองดวง คือดาวเทียม Rasad-1 (รอ-ซัด-วัน) ดาวเทียมดวงที่สามซึ่งมีหน้าที่ในการถ่ายภาพกลับมายังโลก และล่าสุดกับดาวเทียม Fajr (ฟัญร์) ดาวเทียมดวงที่สี่ ซึ่งเป็นดาวเทียมถ่ายภาพได้อย่างถูกต้องและแม่นยำเพราะดาวเทียมดวงนี้ดำเนินการด้วยระบบ GPS ที่ผลิตในประเทศและมีแผงเซลล์แสงอาทิตย์ในตัวเอง
ความสำเร็จของการพัฒนางานด้านอวกาศของอิหร่านไม่ได้มีเพียงแค่การส่งดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรเท่านั้น เพราะอิหร่านยังสามารถส่งสิ่งมีชีวิตขึ้นไปสู่อวกาศได้สำเร็จอีกด้วย โดยครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ คริสต์ศักราช 2010 อิหร่านส่งสิ่งมีชีวิตขึ้นสู่อวกาศเป็นครั้งแรกซึ่งก็คือ เต่า หนู และตัวหนอน และประสบผลสำเร็จในการนำสัตว์เหล่านี้กลับลงมายังพื้นโลกได้อย่างปลอดภัยด้วยจรวด Kavoshgar (Explorer-3) (คา-วอช-ก้า-เอ็กซ์-พลอ-เรอร์) ของอิหร่านเอง ความสำเร็จในครั้งนี้ทำให้อิหร่านเป็นประเทศที่ 6 ที่ส่งสิ่งมีชิวิตออกสู่อวกาศสำเร็จอีกด้วย และ 3 ปีต่อมาอิหร่านได้ส่งลิง 2 ตัวขึ้นสู่อวกาศและนำกลับลงมาได้อย่างปลอดภัยอีกครั้งบนแคปซูล Pishgam (พิช-แกม) แต่ไม่ได้มีการเปิดเผยถึงรายละเอียดเกี่ยวกับเวลาหรือสถานที่ในการปล่อยยาน
ในปีคริสต์ศักราช 2016 อิหร่านวางแผนที่จะมีโครงการในการส่งมนุษย์ที่เป็นชาวอิหร่านขึ้นสู่อวกาศเป็นครั้งแรกด้วยจรวดของอิหร่านเอง ถึงแม้ว่าจนถึงทุกวันนี้แล้วจะยังไร้วี่แววของโครงการนี้ไป แต่ในอนาคตก็คาดว่าอิหร่านจะสามารถทำโครงการนี้ได้สำเร็จ เพราะหากมองย้อนกลับไปตั้งแต่วันแรกที่อิหร่านประกาศตัวต่อสาธารณชน พวกเขาก็ประสบความสำเร็จกับงานด้านอวกาศมาโดยตลอด ถึงแม้จะมีความผิดพลาดอยู่บ้าง แต่ทุกการทดลองและทุกความสำเร็จเส้นทางมักไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบเสมอไป โดยในขณะนี้อิหร่านก็ยังมีแผนงานด้านอวกาศอีกมากมายที่ยังอยู่ในระหว่างการดำเนินการ ไม่ว่าจะเป็นการลงจอดบนดวงจันทร์ในปีคริสต์ศักราช 2025 หรือการส่งดาวเทียมดวงอื่น ๆ ในโครงการออกไปสู่วงโคจร รวมถึงการส่งมนุษย์ชาวอิหร่านคนแรกออกสู่อวกาศ ต้องมาดูกันว่าสุดท้ายแล้ว อิหร่านจะสามารถทำได้สำเร็จอย่างที่ตั้งใจไว้หรือไม่
ความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีอวกาศของอิหร่านเองก็ไม่ได้น้อยหน้าไปกว่าสหรัฐอเมริกา รัสเซีย จีน หรือยุโรปเลยแม้แต่น้อย ถึงแม้จะมีความกังวลจากประเทศต่าง ๆ ในสากลว่า อิหร่านอาจจะใช้โครงการอวกาศเพื่อการลับบางอย่างหรือไม่ แต่อิหร่านก็ได้ออกมาปฏิเสธตลอดว่า โครงการด้านอวกาศนั้นไม่ได้มีเป้าหมายด้านการทหารหรือแรงผลักดันทางนิวเคลียร์ พวกเขายังคงศึกษาและพัฒนางานด้านอวกาศมาโดยตลอด เพราะความสำเร็จในอดีตก็เป็นเครื่องการันตีคำพูดของอิหร่านได้เป็นอย่างดี ก็ได้แต่หวังว่าอิหร่านจะสามารถพัฒนางานด้านอวกาศให้ประสบความสำเร็จมากยิ่งขึ้นในอนาคตนี้