พบดวงจันทร์ ดวงใหม่ของโลก 2020 CD3

ทุกท่านคิดว่า “ดวงจันทร์” คืออะไร

โดยในปัจจุบัน คำว่าดวงจันทร์จะมีความหมายรวมถึง วัตถุขนาดเล็กที่โคจรล้อมรอบวัตถุขนาดใหญ่ และวัตถุขนาดเล็กนั้นต้องเกิดขึ้นโดยธรรมชาติและไม่มีแสงสว่างในตัวเอง เป็นเพราะแสงสะท้อนจากดวงอาทิตย์ที่ส่องลงไปตกกระทบกับพื้นผิวของดวงจันทร์ ดังนั้นถ้าหากไม่มีดวงอาทิตย์ เราเองก็จะไม่สามารถมองเห็นดวงจันทร์ตามไปด้วย

ดวงจันทร์

วัตถุอะไรก็ได้ที่มีขนาดเล็ก เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ไม่มีแสงในตัว และโคจรรอบดาวดวงอื่น ดังนั้นเหล่าดาวบริวาร (Satellites) นอกเหนือจากที่เป็นบริวารของโลก จึงถูกเรียกว่าดวงจันทร์ตามไปด้วย ทำให้ระบบสุริยะของเรามีดวงจันทร์ที่ได้รับการยืนยันแล้วทั้งสิ้นมากถึง 146 ดวง แบ่งออกเป็นดาวบริวารของดาวอังคาร 2 ดวง ดาวพฤหัสฯ 67 ดวง ดาวเสาร์ 62 ดวง ดาวยูเรนัส 27 ดวง ดาวเนปจูน 13 ดวง และโลกของเรา 1 ดวง ซึ่ดาวหนึ่งดวงที่ว่านี้ก็นับเฉพาะดวงจันทร์ที่เป็นดาวบริวารถาวรของโลก

ดวงจันทร์
ขอขอบคุณภาพประกอบจากเว็บไซต์ sci-news.com

ในบางครั้งก็จะมีดาวดวงอื่นหลุดเข้ามาในวงโคจร และลอยวนรอบโลกของเราได้เช่นกัน แต่ดาวพวกนั้นมันจะโคจรรอบโลกของเราได้ไม่นานก็หลุดออกจากวงโคจรไปลอยวนรอบดาวดวงอื่นต่อไปอีก ซึ่งเราจะเรียกดวงดาวที่มาๆ ไปๆ นี้ว่าดาวบริวารชั่วคราว (Temporary satellite) อย่างดาว 3753 ครูทนี (3753 Cruithne) ที่ได้ชื่อว่าเป็นดวงจันทร์ดวงที่ 2 ของโลก หรือที่นักดาราศาสตร์เรียกกันว่า “ดวงจันทร์จิ๋ว” หรือ มินิมูน (minimoon) นั่นแหละค่ะ 

นอกจากนี้ยังมีกรณีของดาว 2006 RH120 ที่ถูกค้นพบในวันที่ 14 กันยายน ปี 2006 โดยโครงการแคทเทอรินา สกาย เซอร์เวย์ (Catalina Sky Survey) ของมหาวิทยาลัยอาริโซนา (Arizona University) เจ้าดาวจิ๋วดวงนี้ได้โคจรรอบโลกของเราประมาณ 4 รอบ ก่อนจะหนีกลับไปโคจรรอบดวงอาทิตย์อีกครั้งหนึ่งในเดือนมิถุนายน 2007 แต่นักวิทยาศาสตร์ก็คาดว่า ไม่แน่บางทีในปี 2028 ดาวดวงนี้ก็อาจถูกแรงดึงดูดของโลกดูดกลับมาเป็นดวงจันทร์จิ๋วของเราอีกครั้งก็ได้ ซึ่งนอกจากมินิมูนสองดวงที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ล่าสุดก็ได้มีดวงจันทร์จิ๋วมาเยือนวงโคจรของโลกเราอีกครั้ง!

ดาว 3753
ภาพดาว 3753 ครูทนี – ขอขอบคุณภาพประกอบจากเว็บไซต์ earthsky.org

เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2020 ที่ผ่าน คุณแคสเปอร์ เวียร์คอส (Kacper Wierzchos) นักวิจัยโครงการแคทเทอรินา สกาย เซอร์เวย์ จากห้องทดลองลูน่า แอน แพลนนิเทอรี แล็บ (Lunar and Planetary Lab) มหาวิทยาลัยแอริโซนา ได้ทวิตข้อความพร้อมรูปประกอบผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัวว่า เขาและเพื่อนร่วมทีมชื่อ ทีโอดอร์ พรายด์ (Theodore Pruyne) ได้ค้นพบวัตถุขนาด 20 แมกนิจูด และมันอาจจะเป็นดวงจันทร์จิ๋วดวงใหม่ที่หลุดเข้ามาในวงโคจรของโลกก็ได้! และมันอาจจะเป็นดวงจันทร์จิ๋วดวงใหม่ที่หลุดเข้ามาในวงโคจรของโลกก็ได้

“นี่เป็นปรากฏการณ์ที่หาได้ยากมาก” คุณเวียร์คอส กล่าว “นี่อาจจะเป็นดาวดวงที่สอง หรืออาจจะสาม จากดวงดาวเป็นล้านดวงที่หลุดเข้ามาในวงโคจรของโลก”

คุณเวียร์คอส
ภาพทวิตของคุณแคสเปอร์ เวียร์คอส – ขอขอบคุณภาพประกอบจากเว็บไซต์ posttoday.com

เดิมทีแล้วโครงการแคทเทอรินา สกาย เซอร์เวย์นี้เป็นโครงการที่ได้รับทุนจากองค์การนาซ่า (NASA) มีวัตถุประสงค์เพื่อตรวจสอบจักรวาล โดยการค้นหาและติดตามวัตถุที่เคลื่อนตัวเข้ามาใกล้โลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิ่งที่อาจเป็นภัยคุกคามต่อโลก ดังนั้นเมื่อนักวิจัยพบวัตถุดังกล่าวนี้ พวกเขาจึงต้องศึกษามันอย่างละเอียดเพื่อให้แน่ใจได้ว่ามันจะไม่เป็นอันตรายใดๆ ต่อโลกของเรา

จากการศึกษาดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า วัตถุนั้นมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.9 – 3.5 เมตร ซึ่งนับว่ามีขนาดเล็กมาก โดยมันเข้าสู่วงโคจรของโลกเมื่อสามปีก่อนและยังคงลอยวนอยู่รอบโลกจนถึงปัจจุบันนี้ และเมื่อทางทีมวิจัยได้ตรวจสอบดูแล้วก็พบว่า มันไม่ใช่สิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น อย่างดาวเทียม แต่เป็นดวงดาวจริงๆ จึงอาจจะเรียกว่ามันเป็นดวงดาวบริวารชั่วคราว

ดาว 2020 CD3
ภาพดาว 2020 CD3 – ขอขอบคุณภาพประกอบจากเว็บไซต์ posttoday.com

“พวกเรามีโอกาสจับภาพและพลาดวัตถุเล็กจิ๋วพวกนี้ได้ตลอดเวลา ดังนั้นข้อเท็จจริงที่ว่าเราสามารถจับภาพวัตถุที่มีขนาดเล็กแบบนี้ได้นับว่าเป็นเรื่องที่น่าประทับใจมาก” แพทริค ยัง (Patrick Young) ศาสตราจารย์ด้านดาราศาสตร์ฟิสิกส์ ที่มหาวิทยาลัยรัฐแอริโซนา กล่าว

นอกจากนี้สหพันธ์ดาราศาสตร์สากล (IAU) ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ดวงจันทร์จิ๋วดวงนี้ถูกแรงโน้มถ่วงดึงตัวไว้กับวงโคจรของโลกเป็นการชั่วคราว ซึ่งพวกเราก็ได้ทำการขึ้นทะเบียนดาวดวงนี้เอาไว้แล้ว และหลังจากนี้เหล่านักดาราศาสตร์จะเฝ้าสังเกตการณ์และศึกษามันต่อไป ก่อนจะเปิดเผยข้อมูลที่ได้ต่อสาธารณชนภายในไม่กี่สัปดาห์หรืออาจจะหลายเดือนหลังจากนี้

ภาพจำลองดาว 2020 CD3 – ขอขอบคุณภาพประกอบจากเว็บไซต์ news.sky.com

ซึ่งน่าเศร้าที่ดวงจันทร์จิ๋วดวงนี้อาจจะอยู่กับเราได้ไม่นานนัก โดยคุณเวียร์คอสคาดการณ์ไว้ว่า ดาวดวงนี้จะอยู่กับเราถึงแค่ประมาณเดือนหน้า ก่อนที่วิถีการโคจรจะดีดมันกลับสู่อวกาศอีกครั้ง

และนี่ก็คือเรื่องของดาว 2020 CD3 ดวงจันทร์จิ๋วดวงที่สามที่เคยมาเยือนวงโครจรของโลกเรา น่าเสียดายที่เราอาจจะไม่ได้มีโอกาสเห็นมันโคจรรอบโลกได้นานนัก แต่จากกรณีของดวงจันทร์จิ๋วดวงอื่นที่เคยศึกษามาก่อนหน้านี้ ก็มีความเป็นไปได้ว่าดวงดาวจิ๋วเหล่านี้อาจจะวนกลับมาเจอเราอีกครั้ง และถ้าหากใครชื่นชอบคลิปสาระดีดีอย่างนี้ ก็อย่าลืมกดติดตามและกดกระดิ่งช่อง eduHUB กันด้วยนะคะ ขอบคุณค่ะ