ดาวเคราะห์มีหาง

เพื่อนๆ เคยนั่งดูฝนดาวตกกันบ้างมั้ยคะ เชื่อว่าพอมีประกาศเรื่องฝนดาวตกหรือดาวหางโคจรผ่านโลกออกมาแต่ละที ก็อาจจะมีใครหลายคนเงยหน้าขึ้นไปบนท้องฟ้าและตั้งหน้าตั้งตารอดูดาวที่มีหางแสนสวยเหล่านี้ (แม้ว่าสุดท้ายแล้วบางคนอาจจะหวืด หาไม่เจอก็ตาม *เศร้า*) แต่เพื่อนๆ รู้หรือไม่ว่าไม่ใช่แค่ดาวตกหรือดาวหางที่จะมีหางสวยๆ นะ แต่ดาวเคราะห์ธรรมดาก็สามารถมีหางได้เหมือนกัน!
.

ดาวเคราะห์มีหางดวงนี้ถูกค้นพบโดยทีมนักดาราศาสตร์นำทีมโดย เจนนิเฟอร์ คูโลว์ (Jennifer Kulow) จากหาวิทยาลัยโคโลราโด โบลเดอร์ (University of Colorado at Boulder) ในปีค.ศ.2014 โดยแรกเริ่มนั้นทีมวิจัยได้จ้องมองและศึกษาดวงดาวชื่อว่า กลีเซ 436 บี (Gliese 436b) ที่อยู่ห่างจากโลกของเราไป 30 ปีแสง ด้วยกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล
.

ถ้าเทียบกับดวงดาวในระบบสุริยะของเราแล้ว ดาวเคราะห์ดวงนี้จะมีขนาดและมวลพอๆ กับดาวเนปจูน แต่ที่แตกต่างกันคือระยะทางระหว่างดาวเคราะห์ดวงนี้กับดาวฤกษ์ เพราะดาวดวงนี้มันโคจรอยู่ใกล้ดาวฤกษ์ของมันมากๆ ทำให้มันใช้เวลาโคจรรอบดาวฤกษ์หนึ่งรอบเพียงแค่ 2 วันครึ่งเท่านั้น
.

ฟังดูแล้วก็ไม่ใช่ดาวเคราะห์ที่แปลกประหลาดอะไรมากมายใช่มั้ยคะ แต่เมื่อนักวิจัยลองจ้องมองดูดาวเคราะห์ดวงนี้ดีๆ พวกเขากลับสังเกตเห็นร่องรอยแสงอัลตราไวโอเลตถูกทิ้งไว้เป็นเส้นยาวๆ บังแสงหน้าดาวฤกษ์ ทั้งที่ดาวเคราะห์กลีเซ 436 บีก็โคจรผ่านหน้าดาวฤกษ์ไปนานแล้ว นั่นแสดงว่าดาวเคราะห์ดวงนี้มันอาจจะมีหางเหมือนดาวหางก็ได้
.

ข้อสันนิษฐานนี้ได้ไปกระตุ้นความอยากรู้อยากเห็นของนักดาราศาสตร์หลายคน ทำให้ต่อมานักดาราศาสตร์ชื่อ เดวิด เอเรนไรช์ (David Ehrenreich) และทีมจากมหาวิทยาลัยเจนีวา (University of Geneva) ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ จึงได้ทำการศึกษาต่อโดยใช้ข้อมูลจากกล้องรังสีเอกซ์จันทรา (Chandra X-ray Observatory) ก่อนจะพบว่าดาวเคราะห์ดวงนี้มันมีหางจริงๆ !
.

การค้นพบนี้ถูกตีพิมพ์ลงในวารสารวิชาการเนเจอร์ (Nature journal) และคาดว่าสาเหตุการเกิดหางของดาวเคราะห์ดวงนี้ก็เป็นเพราะในชั้นบรรยากาศของมันมีไฮโดรเจนจำนวนมาก ก่อตัวเป็นชั้นเมฆหนาล้อมรอบดวงดาว บวกกับระยะห่างระหว่างมันกับดาวฤกษ์ที่ใกล้กันมากจึงทำให้ชั้นไฮโดรเจนเหล่านี้ลากยาวออกมาเหมือนดาวหาง
.

แต่นั่นก็หมายความว่าดาวดวงนี้จะสูญเสียไฮโดรเจนในชั้นบรรยากาศออกไปเรื่อยๆ ในอัตรา 100-1,000 ตันต่อวินาที ถ้าดาวดวงนี้มีไฮโดรเจนในชั้นบรรยากาศ 10 เปอร์เซ็นต์ ดาวดวงนี้ก็จะเสียมวลไปถึง 0.1 เปอร์เซ็นต์ในระยะเวลาเพียงแค่ 1 พันล้านปีเท่านั้น 
.

นอกจากนี้ระดับความรุนแรงของรังสีอัลตราไวโอเลตและรังสีเอกซ์ที่ดาวแคระแดงอันเป็นฤกษ์ของมันปล่อยออกมาก็ยังมีผลต่อการเผาผลาญไฮโดรเจนในชั้นบรรยากาศด้วย โดยรังสีเหล่านี้สามารถเผาไฮโดรเจนได้ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ในหนึ่งพันล้านปีแรก
.

แต่ข่าวดีคือ นักดาราศาสตร์ได้คำนวนออกมาแล้วว่าดาวเคราะห์ดวงนี้น่าจะมีชั้นบรรยากาศมากพอจะอยู่ไปจนสิ้นอายุขัยแน่ๆ ดังนั้นเราคงจะได้เห็นดาวเคราะห์มีหางดวงนี้อยู่กันไปอีกนานเลย แล้วเพื่อนๆ ล่ะคะคิดว่ายังไงบ้าง และถ้าหากใครชื่นชอบบทความสาระดีดีอย่างนี้ ก็อย่าลืมกดไลก์และติดตามเฟซบุ๊กแฟนเพจ eduHUB ไว้ เพื่อจะได้ไม่พลาดบทความและคลิปใหม่ๆ ของพวกเราด้วยนะคะ
.

สนับสนุนโดย chatBEE แอพที่คนเหงาเค้าโหลดกัน ค้นหาคนรู้ใจใกล้คุณ ดาวน์โหลดได้แล้ววันนี้ทั้ง IOS และ Andriod