“The Relax-A-Cizor” เครื่องลดน้ำหนักแห่งหายนะ!

ก่อนที่เราจะเดินทางมาถึงยุคที่เปิดกว้างให้กับความสวยความงามที่หลากหลายแบบที่ว่า ไม่ว่าคุณจะมีผิวสีไหน รูปร่างอย่างไร คุณก็สามารถสวยในแบบที่คุณเป็นได้ แต่ในยุค 30’s หรือช่วงปี 1930-1939 ความสวยมักจำกัดอยู่แค่ผู้หญิงที่มีรูปร่างผอมบางสะโอดสะองเท่านั้น 
.

แต่ความซวยมันอยู่ที่ยุคนั้นมันดันเป็นยุคแห่งการปฏิวัติอุตสาหกรรมที่ฟาสต์ฟู้ดถือกำเนิดขึ้นมาด้วยนี่สิคะ ด้วยอัตราการขยายตัวที่รวดเร็วทำให้คนในยุคนั้นต้องทำงานกันมากขึ้นถึงวันละ 12 ชั่วโมงจนแทบไม่มีเวลาจะทำกับข้าว ดังนั้นสิ่งที่พึ่งได้ก็คืออาหารจานด่วนที่ปรุงเสร็จภายในไม่กี่นาที ซึ่งส่วนใหญ่ก็มักจะเต็มไปด้วยแป้ง ไขมัน และน้ำตาล อย่างแฮมเบอร์เกอร์ เฟรนช์ฟรายส์ และน้ำอัดลมแก้วโต
.

แล้วแบบนี้ทั้งสาวๆ หนุ่มๆ จะผอมกันได้ยังไงในเมื่อกินแต่อาหารจานด่วนแบบนั้น? คำตอบก็คือ “สร้างเครื่องลดน้ำหนักขึ้นมาเสียเลยสิ” ด้วยเหตุนี้ในปี 1949 วิศวกร วิลเลียม เจ บราวเนอร์ (William J. Browner) จึงได้ผลิตและวางขายเครื่องลดน้ำหนักชื่อ เดอะ รีแลกซ์-อะ-เซเซอร์ (The Relax-A-Cizor) ที่อ้างว่าลดน้ำหนักได้ทุกส่วนโดยไม่ต้องออกแรงอะไรเลย
.

โดยหลักการของเครื่องนี้คือ มันจะส่งพลังงานไฟฟ้าเข้าไปกระตุ้นกล้ามเนื้อของผู้สวมใส่ผ่านอุปกรณ์ที่หน้าตาเหมือนเข็มขัดต่อกับสายไฟ ทำให้กล้ามเนื้อของผู้สวมใส่เหมือนออกกำลังกายอยู่ตลอดเวลาแม้ว่ากำลังนอนอยู่ ดังนั้นอยากได้สะโพกที่เล็กลงเหรอ? หรืออยากได้เอวคอดกิ่ว? งั้นใส่เครื่องเดอะ รีแลกซ์-อะ-เซเซอร์แล้วนอนสิ!
.

ฟังดูดีใช่มั้ยคะ จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่เครื่องลดน้ำหนักอันนี้ขายดิบขายดีแบบถล่มทลาย เพียงแค่ในปี 1950-1960 ก็ขายไปแล้วถึง 400,000 เครื่อง แม้ว่าแต่ละเครื่องจะมีราคาสูงถึง 100-400 เหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 3,100 – 12,600 บาท ซึ่งถือว่าแพงมากๆ ในยุคนั้นก็ตาม
.

ทว่าเมื่อเวลาผ่านไปลูกค้าก็เริ่มออกมาบ่นเรื่องสินค้าดังกล่าวมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งที่บ่นนี่ก็ไม่ใช่แค่เพราะมันลดน้ำหนักไม่ได้จริงเท่านั้นนะ แต่มันยังส่งผลให้ผู้ใช้เริ่มมีอาการปวดเมื่อยตามเนื้อตามตัว ก่อนที่ปัญหาจะเริ่มบานปลาย เริ่มมีผู้ใช้เป็นอัมพาต เส้นเลือดแตก ไส้เลื่อน อาเจียน ควบคุมระบบขับถ่ายปัสสาวะไม่ได้ กลืนอาหารไม่ได้ หรือบางคนอาจถึงขั้นหมดสติหรือแท้งลูกได้เลยถ้าหากใช้ในหญิงตั้งครรภ์ จนองค์การอาหารและยาต้องรีบสั่งหยุดขายสินค้าชนิดนี้และบอกให้คนที่ซื้อไปรีบทำลายเครื่องทิ้งโดยด่วนก่อนที่จะมีคนบาดเจ็บไปมากกว่านี้!
.

หลังจากนั้นสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภคได้มีการเรียกร้องให้ทางบริษัทเยียวยาค่าเสียหายให้กับลูกค้า แต่เนื่องจากมีหลักฐานน้อยมากว่าเครื่องลดน้ำหนักนี้จะทำกล้ามเนื้อฉีกขาดได้ อันที่จริงเครื่องนี้มันแทบไม่ช่วยให้น้ำหนักลดลงเลยด้วยซ้ำ ท้ายที่สุดแล้วสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภคจึงทำได้แค่เพียงสั่งให้บริษัทคืนเงินลูกค้าฐานขายสินค้าที่อวดอ้างเกินจริงเท่านั้น
.

สรุปแล้วไม่ว่าจะยุคก่อนหรือยุคนี้ การผอมทางลัดโดยไม่ทำลายสุขภาพอาจจะไม่มีอยู่จริงก็ได้ ดังนั้นถ้าใครอยากผอมแบบมีสุขภาพดีก็ต้องหันมากินอาหารที่มีประโยชน์และออกกำลังกายกันแทนนะคะ และถ้าหากใครชื่นชอบบทความสาระดีดีอย่างนี้ ก็อย่าลืมกดไลก์และติดตามเฟซบุ๊กแฟนเพจ eduHUB ไว้ เพื่อจะได้ไม่พลาดบทความและคลิปใหม่ๆ ของพวกเราด้วยนะคะ ขอบคุณค่ะ
.

สนับสนุนโดย chatBEE แอพที่คนเหงาเค้าโหลดกัน ค้นหาคนรู้ใจใกล้คุณ โหลดเลยที่ chatBEE