
ตั้งแต่เล็กจนโตเรามองเห็นดวงอาทิตย์จากโลกเป็นสีส้มๆแดงๆ และมักจะมีลำแสงกระจายไปทั่วท้องฟ้า จนเมื่อเราได้เรียนหรือศึกษาเรื่องราวของดวงอาทิตย์อย่างลึกซึ้ง เราก็ยิ่งรู้เข้าไปอีกว่าดวงอาทิตย์นั้นไม่ใช่ของแข็งไปซะทีเดียว เพราะมันมีสถานะเป็นพลาสมาร้อนๆ ที่เกิดการปะทุอยู่หลายครั้งทำให้เราเห็นมันเปล่งแสงออกมาอยู่ตลอดเวลา และล่าสุด สถาบันไลบ์นิซเพื่อการศึกษาฟิสิกส์สุริยะ หรือ KIS ประเทศเยอรมันนี ได้ภาพที่ชัดที่สุดในการถ่ายภาพพื้นผิวของดวงอาทิตย์ โดยในภาพจะเห็นทั้งพื้นผิวและจุดมืดบนดวงอาทิตย์ ซึ่งนี่อาจจะเป็นภาพที่เราไม่ชินตาเท่าไรนัก เพราะมันอาจจะไม่ตรงกับสิ่งที่เราเคยจินตนาการไว้
.
เมื่อพูดถึงดวงอาทิตย์เราอาจจะนึกถึงความร้อนระอุเพราะโลกของเรานั้นก็ได้รับอิทธิพลจากดวงอาทิตย์โดยตรง แม้ว่าโลกจะอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์เป็นลำดับที่ 3 ก็ตาม แต่พลังงานของดวงอาทิตย์ยังเหลือล้นเพราะยังกระจายความร้อนมายังโลกของเรา ในอดีตจนถึงปัจจุบันนั้นโลกของเราก็มีโครงการไปสำรวจดวงอาทิตย์อยู่บ้างแต่ไม่บ่อยเท่าไรนัก เนื่องจากระยะทาง และอุปสรรคจากลมสุริยะหรือสนามแม่เหล็ก ที่จะทำให้ยานอวกาศแต่ละลำต้องสามารถรองรับอุปสรรคต่างๆเหล่านั้นได้
.

ที่ผ่านมานั้นเคยมีโครงการไพโอเนียร์ของนาซาได้ขึ้นไปสำรวจดวงอาทิตย์เป็นโครงการแรก และก็ตามด้วยยานสำรวจต่างๆ ที่ทยอยขึ้นไปสำรวจดวงอาทิตย์เพื่อที่จะเก็บข้อมูล ให้นักวิทยาศาสตร์ได้ทำการวิเคราะห์และค้นหาข้อมูลเชิงลึกของดวงอาทิตย์ ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานอันยิ่งใหญ่ของระบบสุริยะ จากการไปสำรวจในแต่ละครั้ง ก็จะได้ข้อมูลที่สำคัญกลับมาและทำให้เรารู้ว่าดวงอาทิตย์นั้นนอกจากจะมีมวลสารที่ประกอบไปด้วยไฮโดรเจนและฮีเลียมที่ทำปฏิกิริยาและก่อให้เกิดพลังงานความร้อนแล้วนั้น แต่มันยังมีจุดมืด ซึ่งถือว่าเป็นจุดที่เย็นที่สุดบนดวงอาทิตย์และมันยังเป็นบริเวณที่สว่างน้อยที่สุดในดวงอาทิตย์อีกด้วย
.
จุดมืดบนดวงอาทิตย์นี้เองนั้นไม่ใช่แค่เป็นบริเวณที่อุณหภูมิต่ำที่สุดบนดวงอาทิตย์เพียงเท่านั้น แต่มันยังเป็นสาเหตุของการเกิดปรากฎการณ์บนดวงอาทิตย์อีกมากมาย อาทิเช่น การเกิดบ่วงโคโรนา การเชื่อมกันของสนามแม่เหล็ก และการเกิดระเบิดใหญ่บนดวงอาทิตย์
.

และถ้าหากใครที่ได้เคยศึกษาเรื่องราวของจุดมืดบนดวงอาทิตย์หรือเคยได้เห็นรูปมาก่อนก็จะพบว่าจุดมืดนี้จะมีลักษณะเป็นจุดดำๆบนดวงอาทิตย์สีแดงๆ เหมือนฝ้าบนใบหน้าคน แต่ก็จะยังมองไม่ชัดเพราะนวัตกรรมเทคโนโลยีกล้องในตอนนั้นมันอาจยังไม่สามารถจะเจาะลึกเข้าไปในรายละเอียดของมันได้
.
แต่ในปัจจุบันนี้มนุษย์ได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีด้านอวกาศให้ทันสมัยและตอบสนองต่อความต้องการอยากรู้อยากศึกษาในเรื่องราวต่างๆ ทำให้ในวันนี้เราได้ภาพพื้นผิวของดวงอาทิตย์และภาพจุดมืดบนดวงอาทิตย์ที่ชัดเจนอย่างไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อน ในวันที่ 20 ก.ค. 2563 ที่ผ่านมานั้น สถาบันไลบ์นิซเพื่อการศึกษาฟิสิกส์สุริยะ หรือ KIS ประเทศเยอรมันนี ได้เก็บภาพจุดมืดบนดวงอาทิตย์และพื้นผิวของดวงอาทิตย์จากกล้องโทรทรรศน์ GREGOR ซึ่งเป็นกล้องโทรทรรศ์ที่ใช้ในการสังเกตการณ์ดวงอาทิตย์ ตั้งอยู่ที่ประเทศเสปน
.

ซึ่งผลของการใช้กล้องโทรทรรศน์ตัวนี้ทำให้เราสามารถเห็นรูปร่างของจุดมืดที่ชัดเจน เราสามารถมองเห็นพื้นผิวของดวงอาทิตย์ทั้งในบริเวณปกติ และบริเวณที่อยู่ใกล้กับจุดมืด และยังจะสังเกตเห็นอีกว่าบริเวณรอบๆจุดมืดนั้นจะมีสนามแม่เหล็กที่คอยปิดกั้นความร้อนจากด้านในถ่ายเทออกมา จึงทำให้เรามองเห็นเป็นจุดมืดที่มีอุณหภูมิต่ำกว่าบริเวณอื่นๆ
.
นอกจากจุดมืดที่เรามองเห็นได้อย่างชัดเจนแล้วเรายังสามารถมองเห็นพื้นผิวของดวงอาทิตย์ ที่ประกอบไปด้วยพลาสมาไหลไปไหลมาและเกาะกลุ่มกันคล้ายกับเซลล์เนื้อเยื่อ ซึ่งนอกจากกล้องโทรทรรศน์ GREGOR จะจับภาพดวงอาทิตย์ได้อย่างใกล้ชิดแล้ว ก็ยังมีกล้องโทรทรรศ์สังเกตการณ์ดวงอาทิตย์ DKIST ของสหรัฐอเมริกาที่สามารถจับภาพพื้นผิวดวงอาทิตย์ได้เช่นเดียวกัน
.

บางคนอาจสงสัยว่าทำไมนักวิทยาศาสตร์ถึงต้องตื่นเต้นดีใจที่สามารถมองเห็นจุดมืดของดวงอาทิตย์ได้อย่างใกล้ชิดและชัดเจน นั่นก็เป็นเพราะว่าจุดมืดนั้นมีอิทธิพลต่อการปลดปล่อยพลังงานของดวงอาทิตย์ที่อาจจะส่งผลกระทบถึงโลก เพราะว่าจุดมืดนั้นเป็นบริเวณที่สนามเเม่เหล็กจะพาดผ่านกันบ้างก็จะฉีกขาด บ้างก็จะต่อกันใหม่ ทำให้เกิดการปล่อยพลังงานครั้งยิ่งใหญ่ออกมาจนกลายเป็นโซลาร์แฟลร์ หรือไม่ว่าจะเป็นการเกิดการปล่อยพลังงานโคโรนา ที่จะส่งผลให้ระบบไฟฟ้าและระบบโทรคมนาคมของโลกนั้นเกิดความเสียหายได้ และสิ่งเหล่านี้ก็คือสาเหตที่ทำให้นักวิทยาศาสตร์ของเราต้องเฝ้าสังเกตเหตุการณ์ต่างๆที่จะเกิดขึ้นบนดวงอาทิตย์ เพราะว่าทุกปฏิกิริยาที่มันเกิดขึ้นบนดวงอาทิตย์นั้น ล้วนส่งผลกระทบกับโลกเราทั้งสิ้น
สนับสนุนโดย chatBEE แอพที่คนเหงาเค้าโหลดกัน ค้นหาคนรู้ใจใกล้คุณ โหลดเลยที่ chatBEE