พบฟอสซิลสมองอายุกว่า 500 ล้านปี

เพื่อนๆ ทุกคนคงทราบกันดีอยู่แล้วว่าสิ่งมีชีวิตบนโลกสีฟ้าของเรามีการวิวัฒนาการกันมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งร่างกายและมันสมองต่างค่อยๆ พัฒนาจนมีความซับซ้อนมากขึ้น สัตว์ตัวไหนที่ปรับตัวให้เข้ากับความเปลี่ยนแปลงของโลกไม่ได้ก็ต้องสูญพันธุ์ลง ส่วนสัตว์ที่ทำได้ก็มีโอกาสได้อยู่รอดต่อไป 
.

ทว่าสัตว์ที่สูญพันธุ์ไปแล้วก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีประโยชน์เอาเสียเลย เพราะการศึกษาสัตว์ในยุคดึกดำบรรพ์อาจจะเป็นเงื่อนงำให้เราเข้าใจการกำเนิดของโลกในยุคแรกเริ่มได้มากขึ้น ซึ่งการศึกษาย้อนไปก็สามารถทำได้หลายวิธี และหนึ่งในนั้นก็คือการศึกษาจากซากฟอสซิล แต่เพื่อนๆ รู้หรือไม่ว่าการศึกษาซากฟอสซิลไม่ได้ทำให้เราเข้าใจเกี่ยวกับโครงสร้างร่างกายของสิ่งมีชีวิตยุคโบราณเท่านั้น แต่ยังสามารถสืบรู้ไปถึงมันสมองของพวกมันด้วย!
.

ฟอสซิลที่เจอในครั้งที่เป็นฟอสซิลของสัตว์ที่มีชื่อว่า Kerygmachela kierkegaardi เป็นสัตว์ขาปล้อง บรรพบุรุษของกุ้งล็อบสเตอร์และแมงมุมในปัจจุบัน โดยมันมีชีวิตอยู่เมื่อ 520 ล้านปีก่อน ประมาณยุคแคมเบรียน (Cambrian) ซึ่งเป็นยุคเปลี่ยนผ่านระหว่างยุคที่สิ่งมีชีวิตมีขนาดตัวที่เล็กและโครงสร้างที่เรียบง่ายกับยุคที่สัตว์เริ่มพัฒนาจนมีความหลากหลายและซับซ้อนมากขึ้น ซึ่งนักบรรพชีวินวิทยาได้บรรยายช่วงเวลาในตอนนี้ว่าเหมือนการระเบิดที่จู่ๆ สิ่งมีชีวิตที่มีความเรียบง่ายก็ระเบิดตูม! และกลายเป็นสิ่งมีชีวิตที่ซับซ้อนขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้มีกันตั้งชื่อปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้ว่า “การระเบิดแคมเบรียน” (Cambrian explosion)
.

ซึ่งในความเป็นจริงแล้วนักบรรพชีวินวิทยาเคยค้นพบซากฟอสซิลของสัตว์ขาปล้องโบราณนี้มาแล้วครั้งหนึ่ง โดยฟอสซิลดังกล่าวมีขนาด 1-10 นิ้ว แต่สภาพของมันผุพังลงไปมากเนื่องจากสภาพอากาศที่เลวร้าย ทำให้เรายังบอกอะไรเกี่ยวกับสัตว์ชนิดนี้ไม่ได้มาก 
.

แต่ล่าสุดมีการค้นพบซากฟอสซิลของสัตว์ขาปล้องชนิดนี้ถึง 15 ชิ้น ซึ่งแต่ละชิ้นก็มีความสมบูรณ์มากจนทำให้นักบรรพชีวินวิทยาสามารถศึกษาย้อนกลับไปถึงวิวัฒนาการของสมองและระบบประสาทของสัตว์ดึกดำบรรพ์เหล่านี้ได้ รวมถึงสัตว์ในวงศ์ panarthropods อย่างหมีน้ำ หนอนกำมะหยี่ และสัตว์ขาปล้องตัวอื่นๆ อย่างกุ้ง ปู และแมลงด้วย
.

งานวิจัยนี้จัดทำโดยสถาบันวิจัย Korea Polar Research Institute (KOPRI) และถูกเผยแพร่ในวารสารวิชาการ Nature Communications ซึ่งรวบรวมงานวิจัยเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ แต่ว่าผลของงานวิจัยนี้กลับขัดแย้งกับงานวิจัยก่อนหน้าโดยสิ้นเชิง เพราะเมื่อก่อนเชื่อกันว่าเจ้าสิ่งมีชีวิตโบราณตัวนี้น่าจะเริ่มมีสมองที่ซับซ้อนแล้ว โดยแบ่งออกเป็นสามส่วน นั่นคือสมองส่วนหน้า (forebrain) สมองส่วนกลาง (midbrain) และสมองส่วนท้าย (hindbrain)
.

เผื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น เราลองมามองแมงมุมในยุคปัจจุบันดู แมงมุมที่เราเห็นอยู่ทุกวันนี้เริ่มจากปมประสาทที่อยู่เหนือลำไส้เพียงแค่เซลล์เดียว ต่อมาก็เริ่มแบ่งเป็นสองส่วนคืออยู่ข้างลำไส้และอยู่ใต้ลำไส้ หลังจากนั้นเมื่อพัฒนาเป็นตัวอ่อนจึงปมประสาทส่วนที่สองจะเริ่มรวมกับส่วนแรก และกลายเป็นปมประสาทที่มีความซับซ้อน ดังนั้นเจ้าสิ่งมีชีวิตโบราณที่(น่าจะ)เป็นบรรพบุรุษของแมงมุมเองก็น่าจะมีสมองที่ซับซ้อนเช่นกัน
.

แต่เมื่อศึกษาซากฟอสซิลของสิ่งมีชีวิตโบราณตัวนั้นดูกลับพบว่ามันมีสมองเพียงแค่ส่วนเดียวเท่านั้น ซึ่งปรากฏให้เห็นเป็นเพียงแผ่นฟิล์มคาร์บอนบางๆ ในซากฟอสซิล โดยหมีน้ำ หนอนกำมะหยี่ และสัตว์อื่นๆ เองก็มีสมองส่วนเดียวเช่นกัน ดังนั้นบรรพบุรุษของพวกมันน่าจะไม่มีสมองที่ซับซ้อนเหมือนกันต่างกับสัตว์ที่มีกระดูกสันหลังชนิดอื่นๆ
.

อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์บางคนก็บอกว่ามันเอามาเทียบกันไม่ได้ เพราะถึงแม้หมีน้ำจะไม่พัฒนาสมองให้มีความซับซ้อนมากขึ้นจากแต่ก่อน แต่มันก็มีระบบประสาทรอบปากที่ดีมาก ดังนั้นจึงจะมาเทียบเคียงว่าถ้าสมองหมีน้ำยังไม่พัฒนา สมองของเจ้าสิ่งมีชีวิตโบราณตัวนั้นก็ไม่น่าจะมีพัฒนาการเช่นกันไม่ได้ 
.

แต่ทั้งนี้ ทฤษฎีนี้ก็มีส่วนที่น่าสนใจอยู่นั่นคือ เมื่อระบบประสาทพัฒนามาเป็นสมองแล้ว สมองที่มีเพียงแค่ส่วนเดียวอาจพัฒนาขึ้นเป็นสมองที่มีความซับซ้อนเหมือนสัตว์มีกระดูกสันหลัง หรืออาจแยกสายไปพัฒนาอวัยวะอื่นๆ ให้มีความเฉียบคมมากขึ้นเหมือนหมีน้ำก็ได้ แล้วเพื่อนๆ ล่ะคะมีความคิดเห็นอย่างไรบ้าง ถ้าหากใครชื่นชอบบทความสาระดีดีอย่างนี้ ก็อย่าลืมกดไลก์และติดตามเฟซบุ๊กแฟนเพจ eduHUB ไว้ เพื่อจะได้ไม่พลาดบทความและคลิปใหม่ๆ ของพวกเราด้วยนะคะ ขอบคุณค่ะ