เพื่อนๆ รู้จักสุนัขสามหัว หรือที่เรียกกันว่า “เซอร์เบอรัส” (Cerberus) บ้างรึเปล่าคะ คาดว่าหลายคนอาจจะเคยคุ้นหน้าคุ้นตาสุนัขปิศาจตัวนี้จากหนังเรื่อง “แฮรี่ พอตเตอร์ กับศิลาอาถรรพ์” โดยในเรื่องแฮกริดจะตั้งชื่อมันว่า “ปุกปุย” และมอบหน้าที่ให้มันเฝ้าประตูทางเข้าที่จะนำพาไปพบกับศิลาอาถรรพ์ และถึงแม้ว่าปุกปุยจะเป็นสุนัขตัวใหญ่ยักษ์ที่มาพร้อมกับพละกำลังมหาศาล แต่จุดอ่อนอย่างหนึ่งของมันคือเสียงดนตรี ดังนั้นแฮรี่และเพื่อนๆ จึงต้องเล่นพิณฝรั่งเพื่อกล่อมมันให้หลับจึงจะสามารถผ่านไปได้
.
แน่นอนว่าตำนานเซอร์เบอรัสไม่ได้เกิดขึ้นในภาพยนต์แฮรี่ พอตเตอร์เป็นที่แรก แต่เกิดจากตำนานเทพปกรณัมกรีกและโรมัน ตามตำนานกล่าวว่าเซอร์เบอรัสเป็นสุนัขเฝ้าประตูนรก มีจำนวนหัวไม่แน่นอน บางแหล่งอาจบอกว่ามีหัวแค่หัวเดียว ในขณะที่บางแหล่งอาจบอกว่ามีถึงร้อยหัว แต่ส่วนใหญ่แล้วมักจะบรรยายว่าเซอร์เบอรัสมีสามหัว ซึ่งแต่ละหัวเป็นตัวแทนของอดีต ปัจจุบัน และอนาคต หรือบางแหล่งก็อาจจะบอกว่าเป็นตัวแทนของการเกิด ความเยาว์วัย และความชรา
.
นอกจากลักษณะเด่นที่มีหัวถึงสามหัวแล้ว เซอร์เบอรัสยังมีส่วนหางเป็นอสรพิษ และมีกรงเล็บเหมือนสิงโตด้วย เนื่องจากมันเป็นลูกของอีคิดนา (Echidna) อสูรกายที่ครึ่งบนเป็นสตรีส่วนครึ่งล่างเป็นอสรพิษ กับไทฟอน (Typhon) ที่เป็นอสูรกายขนาดยักษ์ โดยหน้าที่ของเซอร์เบอรัสคือรับใช้ฮาเดส (Hades) เทพแห่งความตาย เฝ้าประตูนรกไม่ให้คนตายหนีออกมาและไม่ให้คนเป็นแอบลอบเข้าไปข้างใน
.
ถึงกระนั้นตามตำนานก็ยังมีคนบางคนสามารถลอบเข้าไปในนรกได้ อย่างออร์ฟิอัส (Orpheus) นักดนตรีที่กล่อมเซอร์เบอรัสให้หลับด้วยเพลงพิณ ก่อนจะแอบเข้าไปในนรกและช่วยวิญญาณของภรรยาตนเองออกมาได้ กับเฮอร์คิวลิส (Hercules) ผู้ที่อัดเซอร์เบอรัสจนหมอบด้วยมือเปล่าก่อนจะบุกเข้าไปในนรกแบบโต้งๆ (สำหรับใครที่รักน้องหมาก็ไม่ต้องกรีดร้องไปนะคะ เพราะสุดท้ายแล้วเซอร์เบอรัสก็ยังไม่ตาย แถมยังสามารถกลับมาเฝ้าประตูนรกต่อได้ด้วย)
.
และนี่ก็เป็นเรื่องราวในตำนานของเซอร์เบอรัส สุนัขหลายหัวแห่งขุมนรก แต่เรื่องราวของเซอร์เบอรัสนี้สามารถเกิดขึ้นได้ในชีวิตจริงหรือเปล่า? เพราะการที่สุนัขจะเกิดมามีสองหัวเหมือนแฝดสยามนั้นเกิดขึ้นได้ยากมาก ทว่าในวันที่ 11 เม.ย. 1959 ทางสหภาพโซเวียตก็ได้ทำการทดลองผ่าตัดสร้างสุนัขสองหัวขึ้นสำเร็จ! และการทดลองนี้ก็นำไปสู่ความก้าวหน้าด้านการปลูกถ่ายอวัยวะต่อไปในอนาคต
.
เรื่องนี้มันเริ่มต้นขึ้นที่ ดร.วลาดิเมียร์ เดมิกคอฟ (Vladimir Demikhov) หมอที่คลั่งไคล้เรื่องการปลูกถ่ายอวัยวะคนหนึ่ง เดิมทีเขาถือกำเนิดในครอบครัวของชาวนา แต่ด้วยความสนใจในด้านการแพทย์ เดมิกคอฟจึงได้เข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยมอสโก ประเทศรัสเซีย จนสำเร็จการศึกษาและกลายเป็นหมอในที่สุด เขาได้ศึกษาและทดลองเรื่องการปลูกถ่ายอวัยวะเรื่อยมา ทั้งการปลูกถ่ายหัวใจ ปอด ตับ และไตของสุนัข รวมทั้งสิ้นแล้วถึง 20 ครั้ง ซึ่งสุนัขที่เขานำมาทดลองอาจจะอยู่ได้ไม่กี่ชั่วโมงหรืออาจจะอยู่ได้เป็นเวลานานเกือบเดือน
.
ทั้งนี้การทดลองของดร.เดมิคอฟนับว่าสร้างความฮือฮาให้กับวงการการแพทย์เป็นอย่างมาก เนื่องจากการปลุกถ่ายอวัยวะยังถือว่าเป็นเรื่องใหม่ในยุคนั้น อีกทั้งแพทย์ยังมักประสบปัญญาที่อวัยวะเข้ากับเจ้าของร่างไม่ได้ ทำให้การปลูกถ่ายล้มเหลวจนอาจเสียชีวิตทั้งคู่
.
ซึ่งการผ่าตัดครั้งหนึ่งที่สร้างชื่อเสียงให้กับดร.เดมิคอฟอย่างมากคือการผ่าตัดสุนัขสองหัวในช่วงปี 1959 โดยเขาได้ทำการปลูกถ่ายหัวของลูกสุนัขพร้อมขาหน้าสองขาลงบนคอของสุนัขพันธ์เยอรมันเชพเพิร์ด หลังจากที่สุนัขตัวใหญ่ตื่นขึ้นมาจากฤทธิ์ยาสลบ มันก็ดูสับสนและตกใจมากก่อนจะพยายามสลัดหัวของลูกสุนัขตัวเล็กที่ติดอยู่บนหลังคอของมันออก ในขณะที่ลูกสุนัขตัวเล็กยังคงไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไรมากนัก มันยังคงชอบเล่นและเลียมือของนักวิจัยแทนการอ้อน แม้ว่าร่างกายครึ่งล่างของมันจะไม่อยู่แล้วก็ตาม
.
จากบันทึกการทดลองครั้งนั้นกล่าวว่า สุนัขทั้งสองยังคงสามารถกินอาหาร เห่า และแล่บลิ้นเพื่อระบายความร้อนได้ตามปกติ โดยหัวของสุนัขตัวเล็กชอบดื่มนมเวลาที่มันหิวน้ำ ในขณะที่สุนัขตัวใหญ่ชอบนอนอยู่เฉยๆ มันดูออกจะเบื่อๆ เซ็งๆ ที่ต้องถูกผูกติดกับลูกสุนัขตัวเล็กที่อยากจะเล่นตลอดเวลา
.
น่าเศร้าที่สุนัขทั้งสองมีชีวิตอยู่ได้แค่ 6 วันเท่านั้น หลังจากนั้นพวกมันก็เสียชีวิตลง แต่ดร.เดมิคอฟก็ยังคงทดลองผ่าตัดสุนัขสองหัวเช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆ จนกระทั่งหนึ่งในสุนัขเหล่านั้นสามารถมีชีวิตอยู่ได้นานถึง 29 วันเลยทีเดียว แต่หลังจากที่การทดลองนี้ถูกเผยแพร่ออกไป มันก็กลายเป็นประเด็นถกเถียงกันในวงกว้าง เนื่องจากบางคนก็มองเขาว่าเป็นหมอโรคจิตที่ทำการทารุณกรรมสุนัขให้ต้องมีชีวิตอยู่อย่างน่าสังเวช ในขณะที่บางคนมองว่าเขาเป็นผู้บุกเบิกวงการปลูกถ่ายอวัยวะที่จะช่วยชีวิตคนได้อีกจำนวนมากในอนาคต
.
แต่ไม่ว่าใครจะแช่งชักหักกระดูกเขาขนาดไหน ในปี 1998 ดร.เดมิคอฟก็ได้เสียชีวิตลงแล้วด้วยวัย 82 ปี ในอพาร์ตเมนต์แห่งหนึ่งในกรุงมอสโก ซึ่งก่อนตายเขาได้รับเครื่องอิสริยาภรณ์ชั้นที่ 3 เนื่องจากเป็นผู้บุกเบิกทางด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์
.
แล้วเพื่อนๆ ล่ะคะมีความคิดเห็นอย่างไรบ้าง เรียกได้ว่าถ้าไม่มีการทดลองสุดพิลึกพิลั่นของดร.เดมิกคอฟ วงการปลูกถ่ายอวัยวะก็อาจจะไม่พัฒนาแบบก้าวกระโดดแบบนี้ เช่นนั้นแล้วเราควรจะสละชีวิตสัตว์จำนวนหนึ่งเพื่อแลกกับการช่วยชีวิตมนุษย์ด้วยกันเองหรือไม่ เพื่อนๆ สามารถเข้ามาพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันได้ที่เฟซบุ๊กแฟนเพจ eduHUB ได้เลยนะคะ และถ้าหากใครชื่นชอบบทความสาระดีดีอย่างนี้ ก็อย่าลืมกดไลก์และติดตามเฟซบุ๊กแฟนเพจ eduHUB ไว้ เพื่อจะได้ไม่พลาดบทความและคลิปใหม่ๆ ของพวกเราด้วยนะคะ ขอบคุณค่ะ