พบ “กำแพงไฟ” สุดขอบระบบสุริยะ

เมื่อนานมาแล้ว ตอนที่เทคโนโลยีด้านอวกาศยังไม่พัฒนามากนัก มนุษย์เราก็เชื่อว่าโลกของเราแบนเหมือนกับแพนเค้ก ถ้าหากเราเดินเรือไปจนสุดขอบโลก คนบนเรือก็จะตกโลกตายกันหมด แต่ปัจจุบันเทคโนโลยีด้านอวกาศของเราพัฒนาขึ้นมากแล้ว มนุษย์เราสามารถส่งยานสำรวจขึ้นอวกาศเพื่อพิสูจน์ว่าโลกกลมได้ แต่เพื่อนๆ เคยสงสัยกันหรือไม่ว่าแล้ว “สุดขอบ” ระบบสุริยะล่ะมีหน้าตาเป็นอย่างไร วันนี้พวกเรา eduHUB ได้หาคำตอบมาให้คุณแล้ว แต่ก่อนที่จะไปรับชมกัน อย่าลืมกดไลค์ และกดติดตามเฟซบุ๊กแฟนเพจ eduHUB ไว้ เพื่อเป็นกำลังใจให้กับพวกเราด้วยนะคะ
.

เพื่อนๆ ที่เป็นแฟน eduHUB จำเรื่อง “ส่งข้อความถึงเอเลี่ยนผ่าน ‘แผ่นบันทึกทองคำ’” ที่เราเคยนำเสนอไปก่อนหน้านี้ได้รึเปล่าคะ ถ้าหากใครเคยอ่านแล้วจำไม่ได้ หรือยังไม่เคยอ่านเลย เดี๋ยวเราจะสรุปสั้นๆ ให้ฟัง แต่ถ้าหากใครอยากอ่านข้อมูลเพิ่มเติมก็สามารถกดลิ้งค์เข้าไปอ่านบทความเต็มไปเลยนะคะ
.

โปรเจกต์แผ่นบันทึกทองคำนี้เป็นโปรเจกต์ของยานวอยเอจเจอร์ โดยทีมงานจากองค์การนาซาจะนำเมดเลย์ภาพและเสียงที่เป็นตัวแทนของโลก เช่น เสียงปลาวาฬ เสียงคลื่น คำทักทายของหลากหลายประเทศทั่วโลก เพลงที่แสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมต่างๆ ฯลฯ ใส่ลงไปในแผ่นบันทึกทองคำแล้วส่งขึ้นอวกาศไปกับยานวอยเอจเจอร์ 1 (Voyager 1) และ วอยเอจเจอร์ 2 (Voyager 2) ในวันที่ 20 สิงหาคม 1977
.

โปรเจกต์นี้เหมือนโยนขวดพร้อมข้อความ SOS ลงในทะเล โดยหวังว่าสักวันหนึ่งมนุษย์ต่างดาวผู้ทรงภูมิปัญญาจะบังเอิญเจอแผ่นบันทึกนี้เข้าแล้วเอาไปเปิดฟัง มนุษย์ต่างดาวจะได้รู้ว่ามีดวงดาวที่สวยงามชื่อว่าโลกอยู่และอาจจะอยากมาเยี่ยมเยือนเราบ้าง
.

และต่อจากนี้ไปก็จะเป็นเรื่องราวการค้นพบครั้งใหม่ เพราะหลังจากที่ยานวอยเอจเจอร์ 1 และ 2 เดินทางไปในอวกาศเรื่อยๆ และส่งสัญญาณบอกตำแหน่งกลับมาเป็นระยะๆ เมื่อปี 2018 ที่ผ่านมา ในที่สุดยานวอยเอจเจอร์ 2 ก็เดินทางมาถึงสุดขอบระบบสุริยะที่เราเรียกว่า “เฮลิโอสเฟียร์” (Heliosphere) 
.

ซึ่งเจ้าเฮลิโอสเฟียร์นี้เกิดจากลมสุริยะที่พัดมาจากดวงอาทิตย์ ปะทะเข้ากับรังสีคอสมิกนอกระบบสุริยะจนไปต่อไม่ได้ เลยเกิดเป็นแถบพลาสมาความร้อนสูงแต่ความหนาแน่นต่ำขึ้น โดยมันจะมีหน้าตาเหมือนฟองสบู่หุ้มระบบสุริยะของเราไว้ ถือเป็นจุดสิ้นสุดของขอบระบบสุริยะ แล้วยานวอยเอจเจอร์ 2 ของเราก็ไปติดอยู่ที่ฟองเฮลิโอสเฟียร์นี่แหละ เพราะบริเวณดังกล่าวมีอุณหภูมิสูงถึงหลายหมื่นองศาเซลเซียส เรียกได้ว่าเป็น “กำแพงไฟ” ที่ล้อมรอบระบบสุริยะของเราเอาไว้เลย
.

แต่ถ้าถามว่านักวิทยาศาสตร์ของเราตกใจกับเรื่องกำแพงไฟนี่มั้ย ก็ขอบอกเลยว่า “ไม่” เพราะนักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่ามีกำแพงไฟนี่ไว้แต่แรกแล้ว เพียงแต่เราไม่คิดว่ามันจะมีความร้อนสูงถึงขนาดนี้ โดยจากข้อมูลที่ยานวอยเอจเจอร์ 2 เก็บมาได้พบว่ากำแพงไฟนี้มีอุณหภูมิถึง 30,000 – 50,000 องศาเซลเซียส และการค้นพบนี้ก็ถูกตีพิมพ์ลงในวารสารวิทยาศาสตร์ออนไลน์ Nature Astronomy ด้วย
.

คำถามถัดมาคือ แล้วยานวอยเอจเจอร์ 2 ที่โดนกำแพงไฟเข้าไปจะไม่พังไปแล้วเหรอ ซึ่งทางนาซาก็ออกมาให้คำตอบว่า ด้วยอุณหภูมิที่สูงถึงขนาดนี้อาจทำให้ยานเดินทางไปต่อไปได้ช้าลงก็จริง เพราะถ้าหากดึงดันไปต่อยานอาจได้รับความเสียหายหนักจนถึงขั้นพังจนไปต่อไม่ได้เลยก็ได้ แต่สำหรับตอนนี้ยานวอยเอจเจอร์ 2 น่าจะยังอยู่ในสภาพที่ปฏิบัติงานต่อได้อยู่ เพราะยานยังไม่มีการส่งสัญญาณเตือนว่ามีส่วนเสียหายอย่างรุนแรงแต่อย่างใด
.

ส่วนทางด้านยานวอยเอจเจอร์ 1 ที่ถูกส่งไปในทิศทางตรงกันข้ามกับยานวอยเอจเจอร์ 2 ในที่สุดยานลำนี้ก็เดินทางมาถึงกำแพงไฟแล้วเหมือนกันในปี 2012 ซึ่งเมื่อยานอวกาศทั้งสองเดินทางมาถึงสุดขอบระบบสุริยะแล้ว มันก็ทำให้นักวิทยาศาสตร์สามารถจินตนาการหน้าตาของฟองเฮลิโอสเฟียร์ที่หุ้มระบบสุริยะเราอยู่ได้ง่ายขึ้น โดยปัจจุบันยานทั้งสองอยู่ห่างจากโลกไปประมาณ 18,000 ล้านกิโลเมตร 
.

คาดว่าหลังจากนี้ไปยานทั้งสองก็น่าจะยังคงทำภารกิจสำรวจอวกาศต่อไปได้อยู่ เพราะถึงแม้ยานทั้งสองจะเก่ามากแล้ว แต่อุปกรณ์สำรวจหลายชิ้นก็ยังคงทำงานได้ดี ดังนั้นทางนาซาจึงคาดว่ายานทั้งสองจะยังปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้จนกว่าพลังงานพลูโตเนียมที่ใช้ผลิตไฟฟ้าสำหรับนำไปเป็นพลังงานของยานจะหมดลง
.

สรุปแล้ว ระบบสุริยะของเราอยู่ในฟองเฮลิโอสเฟียร์ที่มีกำแพงไฟความร้อนสูงล้อมรอบอยู่ ถึงแม้ว่ามันจะทำให้ยานอวกาศของเราเดินทางออกไปด้านนอกได้ยากขึ้น แต่เมื่อมองในมุมกลับกัน มันก็เป็นเหมือนกำแพงป้องกันรังสีคอสมิกรวมถึงสิ่งแปลกปลอมจากนอกระบบสุริยะไม่ให้เดินทางเข้ามาในระบบสุริยะของเราได้ด้วย 
.

แล้วเพื่อนๆ ล่ะคะมีความคิดเห็นอย่างไรบ้าง ตอนนี้เราค้นพบกำแพงไฟที่สุดขอบระบบสุริยะแล้ว ไม่แน่ว่าในอนาคตเราอาจสามารถสร้างยานที่ป้องกันและขับผ่านกำแพงไฟนี้ไปก็ได้ ในวันนั้นเราก็คงสามารถออกไปสำรวจอวกาศได้ไกลขึ้นกว่าเดิมมาก ซึ่งถ้าหากในวงการอวกาศมีการค้นพบหรืออัพเดทอะไรเพิ่มเติม พวกเรา eduHUB จะนำมาอัพเดทให้ทุกคนฟังอีกครั้งนะคะ และถ้าหากใครชื่นชอบบทความสาระดีดีอย่างนี้ ก็อย่าลืมกดไลก์และติดตามเฟซบุ๊กแฟนเพจ eduHUB ไว้ เพื่อจะได้ไม่พลาดบทความและคลิปใหม่ๆ ของพวกเราด้วยนะคะ ขอบคุณค่ะ