ในขณะที่น่านฟ้าบนโลกถูกควบคุมด้วยกฏหมายของแต่ละประเทศ ถ้าจะบินเข้าบินออกประเทศไหนก็ต้องมีการขออนุญาตก่อน แต่สำหรับพื้นที่กว้างใหญ่บนอวกาศยังคงเปิดกว้างให้ใครก็ไปสำรวจได้อย่างเสรี แต่ที่ผ่านมา การเดินทางขึ้นอวกาศจำเป็นต้องใช้งบประมาณสูงมาก รวมถึงองค์ความรู้ของนักวิทยาศาสตร์และนักบินของประเทศนั้นๆ อีก ทำให้ประเทศที่สามารถขึ้นไปสำรวจอวกาศได้มีเพียงแค่ประเทศมหาอำนาจอย่างรัสเซียกับสหรัฐอเมริกาเท่านั้น
.
แต่ในยุคหลังๆ มานี้ หลายประเทศก็เริ่มสร้างยานอวกาศของตนเองได้มากขึ้น ทั้งประเทศจีนที่ส่งยานฉางเอ๋อ4 ขึ้นไปสำรวจด้านไกลของดวงจันทร์ ประเทศอินเดียที่สร้างจันทรายาน 2 ที่เป็นยานอวกาศต้นทุนต่ำ ในงบประมาณเพียงแค่ 140 ล้านดอลลาร์ เป็นต้น
.
แล้วตอนนี้ก็มาถึงคิวของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์กันบ้างที่จะส่งอะไรบางอย่างขึ้นไปสำรวจอวกาศ ดังนั้นวันนี้พวกเรา eduHUB จึงจะขอพาท่านผู้ชมทุกท่านไปดูโปรเจกต์สำรวจดาวอังคารด้วยดาวเทียมโฮปของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์กัน แต่ก่อนที่จะไปรับชมกัน อย่าลืมกดไลค์ และกดติดตามเฟซบุ๊กแฟนเพจ eduHUB ไว้ เพื่อเป็นกำลังใจให้กับพวกเราด้วยนะคะ
.
อย่างที่เราทราบกันดีอยู่แล้วว่า สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หรือยูเออีไม่ใช่ผู้นำทางด้านอวกาศ ดังนั้นจึงไม่ค่อยมีประสบการณ์ด้านการออกแบบและผลิตยานอวกาศสักเท่าไหร่ รวมถึงไม่มีงบประมาณมากพอที่จะสั่งซื้อยานอวกาศราคาแพงจากต่างประเทศอีกด้วย แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้ยูเออียอมแพ้แต่อย่างใด เพราะเขาเชื่อว่าถ้าหากประเทศอื่นทำได้ ยูเออีก็ต้องทำได้เช่นกัน
.
ด้วยเหตุนี้ ยูเออีจึงเริ่มที่จะศึกษาวิธีการออกแบบและผลิตยานอวกาศเอง โดยได้รับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยหลายแห่งในประเทศสหรัฐอเมริกา และเนื่องจากการส่งมนุษย์ขึ้นยานอวกาศหรือสร้างยานอวกาศที่มีความซับซ้อนสูงอาจจะเป็นเรื่องยากเกินไปสำหรับมือใหม่ ทางยูเออีจึงได้เริ่มจากการสร้างดาวเทียมสำรวจอวกาศขึ้นมาแทน ซึ่งในที่สุดยูเออีก้สามารถสร้างดาวเทียมขึ้นมาได้ในระยะเวลาเพียง 6 ปีเท่านั้น
.
โดยทางยูเออีตั้งชื่อดาวเทียมนี้ว่า “โฮป” (Hope) เป็นดาวเทียมที่มีน้ำหนักรวมทั้งสิ้น 1.3 ตัน ซึ่งภารกิจของมันก็คือการออกเดินทางไปสำรวจดาวอังคาร แต่สำหรับคนที่ติดตามข่าวสารด้านอวกาศกันมานานคงจะทราบกันดีอยู่แล้วว่า การสำรวจดาวอังคารนั้นไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่อะไร เพราะที่ผ่านมาองค์กรทั้งหลายก็เคยส่งยานไปสำรวจดาวอังคารกันจนปรุไปหมด เรียกได้ว่าเป็นดาวสุดฮอตที่หลายองค์กรชอบส่งยานไปสำรวจเลยก็ว่าได้
.
ดังนั้นทางยูเออีจึงตั้งใจว่าพวกเขาจะไม่ส่งยานขึ้นไปเฉยๆ เพียงแค่เป็นสัญลักษณ์ว่าตนเองก็ทำได้เท่านั้น แต่ต้องได้ประโยชน์อะไรกลับมาด้วย ทางยูเออีเลยได้หารือกับคณะกรรมการที่ปรึกษาจากองค์การนาซาว่ามีภารกิจดาวอังคารอะไรที่พวกเขาจะทำได้และเป็นประโยชน์กับวงการอวกาศบ้าง ทางนาซาเลยเสนอมาว่าตอนนี้ยังไม่มีองค์กรไหนเคยส่งยานไปศึกษาพลังงานเคลื่อนย้ายบนชั้นบรรยากาศของดาวอังคารมาก่อน
.
ซึ่งการศึกษานี้จะไม่ใช่ภารกิจที่ขึ้นไปถ่ายภาพแปบๆ แล้วก็กลับ แต่จะต้องศึกษาโดยการโคจรรอบดาวอังคารตลอดทั้งวัน ทุกวัน และทั้งปี เพื่อดูการเคลื่อนไหวของอะตอมที่เป็นกลางของไฮโดรเจนและออกซิเจนที่จุดสูงสุดของชั้นบรรยากาศ ตลอดจนเม็ดฝุ่นที่ล่องลอยอยู่ในอากาศรอบดาวอังคารด้วย เนื่องจากนักวิทยาศาสตร์หลายคนมีการตั้งข้อสงสัยว่าอะตอมดังกล่าวน่าจะมีบทบาทในการกัดเซาะชั้นบรรยากาศของดาวอังคารจากอนุภาคของดวงอาทิตย์ รวมถึงอาจเป็นต้นเหตุให้น้ำบนดาวอังคารหายไปด้วย
.
ไม่เพียงเท่านี้ การจะศึกษาเรื่องราวทั้งหมดได้ วงโคจรของดาวเทียมที่จะใช้จะต้องกว้างและวนเป็นรูปไข่ โดยดาวเทียมโฮปต้องโคจรในแนวเส้นศูนย์สูตร ในระยะห่างจากดาวอังคารประมาณ 22,000 กิโลเมตรถึง 44,000 กิโลเมตร เพื่อให้ศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
.
เมื่อกำหนดภารกิจและสร้างยานเสร็จเรียบร้อยแล้ว ดาวเทียมโฮปก็เตรียมการปล่อยตัว น่าเสียดายที่กำหนดการปลดตัวดาวเทียมต้องถูกเลื่อนไปถึง 2 ครั้งเนื่องจากสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย แต่ในที่สุดเมื่อวันที่ 19 ก.ค. 2020 ดาวเทียมโฮปก็ถูกปล่อยตัวขึ้นอวกาศไปเรียบร้อยด้วยจรวด H2-A จากฐานปล่อยจรวดทาเนกาชิมะ ประเทศญี่ปุ่น ดาวเทียมดวงนี้จะต้องเดินทางเป็นระยะทางถึง 500 ล้านกิโลเมตรกว่าจะถึงดาวอังคาร ซึ่งจากการคำนวนแล้ว คาดว่าน่าจะเดินทางไปถึงจุดหมายในเดือน ก.พ. ปี 2021 พอดี
.
นับได้ว่านี่เป็นก้าวแรกที่ยิ่งใหญ่ของยูเออี โดย ซาราห์ อัล อามิรี รัฐมนตรีด้านวิทยาศาสตร์ชั้นสูงและหนึ่งในผู้นำโครงการของยูเออี ยังบอกอีกด้วยว่า ตอนที่ดาวเทียมถูกปล่อยตัว ผู้คนในประเทศก็ตื่นเต้นดีใจเหมือนกับตอนที่สหรัฐอเมริกาปล่อยยานอะพอลโล 11 ไปลงจอดบนดวงจันทร์เป็นครั้งแรกของโลกเลยทีเดียว และนี่จะกลายเป็นแรงบันดาลใจให้เด็กๆ ในยูเออีทุกคนให้กล้าทำในสิ่งที่ยิ่งใหญ่ ไม่ว่าผลลัพธ์จะออกมาเป็นอย่างไรก็ตาม
.
ดังนั้นไม่ว่าโครงการนี้จะสำเร็จหรือไม่ แต่สิ่งที่ยูเออีได้มาคือความรู้และประสบการณ์ใหม่ๆ ที่สามารถนำไปพัฒนาต่อได้ในอนาคต เพราะหลังจากนี้ถ้าหากยูเออีต้องการส่งยานอวกาศหรือดาวเทียมขึ้นไปบนอวกาศอีก ยูเออีก็สามารถเรียนรู้จากข้อผิดพลาดของตนเองและสร้างยานอวกาศลำใหม่ได้เองโดยไม่ต้องพึ่งต่างชาติแล้ว
.
นับว่าทางยูเออีมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลไม่น้อยเลยใช่มั้ยคะ แล้วเพื่อนๆ ล่ะคะมีความคิดเห็นอย่างไรบ้าง และถ้าหากใครชื่นชอบบทความสาระดีดีอย่างนี้ ก็อย่าลืมกดไลค์และติดตามเฟสบุ๊คแฟนเพจ eduHUB ไว้ เพื่อจะได้ไม่พลาดบทความและคลิปใหม่ๆ ของพวกเราด้วยนะคะ