พบฟอสซิลต้นกำเนิดสิ่งมีชีวิต

ย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 4,600 ล้านปีก่อน ดาวเคราะห์ที่มีชื่อว่าโลกได้ถือกำเนิดขึ้น เป็นดาวที่เวิ้งว้างว่างเปล่า ไร้สิ่งมีชีวิต ต้องใช้เวลากว่าพันปีถึงจะมีสิ่งมีชีวิตแรกเกิดขึ้นบนโลก ซึ่งสิ่งมีชีวิตนั้นก็คือ แบคทีเรียไซยาโน (Cyanobacteria) ที่ภายหลังไม่ได้สูญพันธุ์ไปพร้อมไดโนเสาร์แต่กลายเป็นสาหร่ายสีน้ำเงินแกมเขียว (Blue-green Algae) ที่เรายังคงพบเห็นได้อยู่ทุกวันนี้
.

เมื่อมีสิ่งมีชีวิตแรกเกิดขึ้น หลังจากนั้นก็เริ่มมีการวิวัฒนาการเป็นสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ตามมา จากสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวก็พัฒนาขึ้นเป็นสิ่งมีชีวิตหลายเซลล์ จากสิ่งมีชีวิตหลายเซลล์ก็วิวัฒนาการต่อเป็นสัตว์น้ำ กลายเป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ กลายเป็นสัตว์น้ำ และสัตว์ปีกต่อไป และหนึ่งในสายการวิวัฒนาการนั้นก็กลายเป็นลิงก่อนจะพัฒนามาเป็นมนุษย์เราในที่สุด
.

แต่เพื่อนๆ รู้มั้ยคะว่าสิ่งมีชีวิตตัวแรกที่เป็นต้นกำเนิดสัตว์ทั้งหลายรวมถึงมนุษย์เรามีหน้าตาเป็นยังไง วันนี้พวกเรา eduHUB เลยจะขอพาท่านผู้ชมทุกท่านไปดูการค้นพบสิ่งมีชีวิตที่เป็นต้นกำเนิดแห่งสัตว์ทั้งปวงกันค่ะ บอกไว้เลยว่าสิ่งมีชีวิตชนิดนี้หน้าตาไม่เหมือนสัตว์ตัวไหนในโลกที่เราเคยรู้จักอย่างแน่นอน แต่ก่อนที่จะไปรับชมกัน อย่าลืมกดไลค์ และกดติดตามเฟซบุ๊กแฟนเพจ eduHUB ไว้ เพื่อเป็นกำลังใจให้กับพวกเราด้วยนะคะ
.

ที่ผ่านมา นักบรรพชีววิทยาได้เคยค้นพบฟอสซิลของสัตว์ดึกดำบรรพ์มาแล้วมากมาย ทั้งฟอสซิลของไดโนเสาร์ จระเข้ หรือแม้กระทั่งหอยชนิดต่างๆ ซึ่งฟอสซิลที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่เราเคยค้นพบมาก็อยู่ที่อายุราวๆ 510-520 ล้านปี เป็นฟอสซิลของสัตว์จำพวกดิวเทอโรสโตม (Deuterostome) หรือก็คือสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง อย่างพวกดาวทะเล ปลองทะเล  หอยเม่น พลับพลึงทะเล เป็นต้น
.

แต่สัตว์เหล่านี้ก็ไม่ใช่สัตว์ที่จะเรียกได้ว่าเป็นสิ่งมีชีวิตต้นกำเนิดของสัตว์ทั้งปวงอยู่ดี เพราะเราจะเห็นได้ว่ามันเริ่มมีการแตกสายไปเป็นสัตว์ไร้กระดูกสันหลังแล้ว ดังนั้นมันต้องมีสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นเกิดขึ้นก่อนหน้านี้แน่ และในที่สุดเราก็ค้นพบฟอสซิลสิ่งมีชีวิตดังกล่าวได้สำเร็จ โดยมันมีอายุเก่าแก่มากถึง 540 ล้านปีเลยทีเดียว!
.

การค้นพบนี้ถูกตีพิมพ์ลงในวารสาร Nature ซึ่งเป็นวารสารวิชาการด้านทางวิทยาศาสตร์ที่ถูกนำไปใช้อ้างอิงมากที่สุดในโลก และผู้ที่ค้นพบฟอสซิลคือคณะนักวิทยาศาสตร์จากหลากหลายประเทศ ได้แก่ ประเทศเยอรมนี จีน และสหราชอาณาจักร
.

ซึ่งฟอสซิลที่พวกเขาค้นพบก็น่าทึ่งเป็นอย่างมาก เพราะฟอสซิลดังกล่าวมีขนาดเพียงแค่ 1 มิลลิเมตรเท่านั้น แต่มันยังคงอยู่ในสภาพดีสุดๆ ถ้าหากเรามองด้วยตาเปล่า มันอาจจะดูเหมือนเมล็ดหินสีดำอันเล็กๆ แต่ถ้าลองเอาไปส่องกับกล้องจุลทรรศน์ดู เราถึงจะสามารถเห็นรายละเอียดรูปร่างหน้าตาของมันได้ และถ้าหากเรามองดีๆ เราจะสามารถเห็นส่วนที่เป็นผิวหนังและกล้ามเนื้อบางๆ ที่ยังคงติดอยู่บนฟอสซิลได้ด้วย
.

ฟอสซิลสิ่งมีชีวิตต้นกำเนิดนี้ถูกค้นพบในทางตอนกลางของประเทศจีน ดูเผินๆ แล้วหน้าตามันออกจะคล้ายเอเลี่ยนอยู่หน่อยๆ โดยมันมีหัวกลมๆ มีตุ่มคล้ายเพรียงหิน มีปากที่กว้างเต็มไปด้วยปุ่มปม ส่วนลำตัวของมันเป็นรูปทรงยาวคล้ายกับกรวย 
.

นักวิทยาศาสตร์ตั้งชื่อให้สิ่งมีชีวิตนี้ว่า Saccorhytus coronarius เป็นสัตว์จำพวกดิวเทอโรสโตมเหมือนกับพวกปลาดาวทะเลที่เรากล่าวไปก่อนหน้านี้ จากการศึกษาทำให้นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่าพวกมันน่าจะอาศัยอยู่ในผืนทรายก้นมหาสมุทร เคลื่อนที่ไปไหนมาไหนได้ด้วยการบิดตัวไปมา (เนื่องจากไม่พบหางหรือแขนขาสำหรับเคลื่อนที่หรือว่ายน้ำ) คาดว่าสิ่งมีชีวิตชนิดนี้น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่พัฒนาจากสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กในทะเลมาสู่ปลาและสัตว์บก ซึ่งรวมถึงมนุษย์ในเวลาต่อมา
.

นอกจากนี้ จากรูปร่างหน้าตาของมัน เราจะเห็นได้ว่ามันมีปากที่กว้างมาก นั่นก็เพื่อไว้ดูดกลืนอาหารเข้าไปเหมือนเวลาฉลามวาฬกินแพลงก์ตอน โดยฉลามวาฬจะดูแพลงก์ตอนเข้าไปพร้อมกับน้ำในปริมาณมาก ก่อนจะระบายน้ำส่วนเกินออกมาผ่านช่องเหงือก ซึ่งปลาฉลามวาฬเองก็เป็นสัตว์ดึกดำบรรพ์ที่ยังคงอยู่รอดแลสืบเชื้อสายมาจนถึงทุกวันนี้ นักวิทยาศาสตร์จึงคาดว่าวิธีการกินอาหารแบบกรองกินน่าจะเป็นวิธีการกินอาหารของสัตว์ในยุคแรกๆ
.

เมื่อพูดถึงการกินแล้ว เราก็ต้องมาพูดเรื่องการขับถ่ายบ้าง น่าแปลกที่สิ่งมีชีวิตชนิดนี้ไม่มีรูทวารเหมือนสัตว์ที่เราพบเจอกันอยู่ทุกวันนี้ ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้เลยที่พวกมันจะกินเข้าไปโดยไม่ขับถ่ายออกมา ดังนั้นนักวิทยาศาสตร์จึงคาดว่าสัตว์ในยุคแรกเริ่มน่าจะขับถ่ายออกมาทางเดียวกับที่ใช้กินอาหารนี่แหละ หรือพูดอีกอย่างก็คือพวกมันขับถ่ายออกมาทางปากนั่นเอง (คิดแล้วก็ขมคอขึ้นมาเลย…)
.

และนี่ก็คือข้อมูลทั้งหมดเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตต้นกำเนิดสัตว์ทั้งปวง พอย้อนกลับมาดูมนุษย์เราในทุกวันนี้แล้ว เราก็วิวัฒนาการมาไกลมากเลยว่ามั้ยคะ แล้วเพื่อนๆ ล่ะคะมีความคิดเห็นอย่างไรบ้าง สามารถคอมเม้นต์เข้ามาพูดคุยกันได้ที่เฟซบุ๊กแฟนเพจ eduHUB ได้เลยนะคะ และถ้าหากใครชื่นชอบบทความสาระดีดีอย่างนี้ ก็อย่าลืมกดไลก์และติดตามเฟซบุ๊กแฟนเพจ eduHUB ไว้ เพื่อจะได้ไม่พลาดบทความและคลิปใหม่ๆ ของพวกเราด้วยนะคะ