คงจะปฏิเสธไม่ได้ว่าเราอยู่ในยุคที่เต็มไปด้วยเทคโนโลยี เราเกิดและโตมากับสมาร์ทโฟน ไอแพต ระบบออนไลน์ แอพพลิเคชั่น และเทคโนโลยีอื่นๆ อีกมากมายหลายชนิด ซึ่งแต่ละวันก็มีการคิดค้นนวตกรรมใหม่ๆ ออกมาประชันกันอยู่เรื่อยๆ จนรอบตัวเราในตอนนี้รายล้อมไปด้วยเทคโนโลยี
.
ถ้าหากมองในแง่ดีก็จะเห็นว่าเทคโนโลยีเหล่านั้นช่วยให้ชีวิตเราสะดวกสบายขึ้น เข้าถึงแหล่งการเรียนรู้ได้มากขึ้น ติดต่องานหรือเข้าสังคมได้ง่ายขึ้น จัดระเบียบตารางงานของตัวเองได้ดีขึ้น ตลอดจนย่นเวลาในการทำงานต่างๆ เพื่อให้มีเวลาไปทำอย่างอื่นมากยิ่งขึ้น
.
แต่เมื่อมีข้อดีก็ย่อมมีข้อเสีย เทคโนโลยีบางชนิดอาจจะดูเหมือนมีประโยชน์แต่ก็ก่อให้เกิดโทษได่เช่นเดียวกัน ดังนั้นเราจึงควรรู้ทันเทคโนโลยีกันไว้ให้มาก และวันนี้พวกเรา eduHUB จึงขอพาท่านผู้ชมทุกท่านไปดู 7 เทคโนโลยีอันตรายที่พวกเราควรระวังเอาไว้ แต่มันจะอันตรายอย่างไร และป้องกันยังไงได้บ้างก็ต้องมาดูไปพร้อมๆ กันเลยนะคะ แต่ก่อนที่จะไปรับชมกัน อย่าลืมกดไลค์ และกดติดตามเฟสบุ๊กแฟนเพจ eduHUB ไว้ เพื่อเป็นกำลังใจให้กับพวกเราด้วยนะคะ
.
1.โดรน (Drone)
ก่อนหน้านี้โดรนมักใช้ในกลุ่มนักธุรกิจ นักข่าว ตำรวจ ทหาร เพื่อใช้ในการตรวจสอบพื้นที่จากมุมสูง ค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัย ฯลฯ แต่ทุกวันนี้โดรนมีราคาถูกลงมากจนใครๆ ก็สามารถซื้อมาเล่นได้ ไม่ว่าจะใช้บินเล่นสนุกๆ เหมือนเล่นรถบังคับ หรือเอาไว้ใช้ถ่ายรูปสวยๆ จากมุมสูงไปลงไอจี แต่การเข้าถึงโดรนได้ง่ายนี้ก็ทำให้ผู้ร้ายสามารถใช้โดรนเป็นอาวุธที่เคลื่อนที่ได้อย่างรวดเร็วเช่นเดียวกัน
.
เหมือนอย่างกรณีหนึ่งในรัฐโอไฮโอ ประเทศสหรัฐฯ ที่ผู้สมรู้ร่วมคิดใช้โดรนแอบลักลอบขนส่งกัญชาและมือถือเข้าไปให้นักโทษในเรือนจำ บางกรณีก็มีการขนส่งปืนและอาวุธอื่นๆ ให้นักโทษไว้ใช้ทำร้ายเพื่อนนักโทษและเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วย นอกจากนี้ยังมีกรณีที่เกิดขึ้นในตะวันออกกลาง โดยผู้ก่อการร้ายใช้โดรนนำระเบิดไปทิ้งกลางเมืองด้วย ทั้งนี้ตำรวจของทางสหรัฐฯ เองก็มีแนวทางการรับมือโดรนไว้แล้วเช่นเดียวกัน โดยการส่งสัญญาณคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าไปรบกวน ทำให้ระบบควบคุมโดรนขัดข้องและสูญเสียการควบคุมในที่สุด
.
2.Internet of Things (IoT)
เทคโนโลยี Internet of Things หรือเรียกย่อๆ ว่า IoT คืออุปกรณ์ต่างๆ ที่เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตและสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลผ่านอินเทอร์เน็ตได้ เช่น มือถือ รถยนต์ Smart TV Smartwatch เป็นต้น ซึ่ง IoT ก็มีประโยชน์มากมายไม่ว่าจะเป็นการรับส่งข้อมูลรูปที่รวดเร็ว แม่นยำ ลดต้นทุน แถมยังอัพเดทข้อมูลได้แบบ Real-Time
.
แต่ในขณะเดียวกัน เมื่อเรากำลังเชื่อมต่อกับระบบบนอินเทอร์เน็ต เราก็มีสิทธิ์โดนแฮกเกอร์ขโมยข้อมูลเอาไปใช้แบล็คเมลล์ หรือแม้กระทั่งควบคุมอุปกรณ์ของเราเองได้ อย่างเช่นในกรณีกล้องวงจรปิดของบริษัท Ring ที่ลูกค้าหลายคนโดนแฮกกล้องวงจรปิดที่ติดไว้ในบ้าน ทำให้คนร้ายเห็นทุกการกระทำของเหยื่อ แถมยังสามารถส่งเสียงผ่านไมค์เข้ามาพูดคุยกับเหยื่อได้ด้วย โดยหนึ่งในเหยื่อเหล่านั้นเป็นเรื่องราวของครอบครัวเลอเมย์ จากเดสโซโต เคาน์ตี รัฐเทนเนสซี สหรัฐฯ โดยลูกสาววัย 8 ขวบของบ้านโดนล่อลวงด้วยแฮกเกอร์ที่อ้างตัวว่าเป็นซานตาครอส โดยคนร้ายพยายามชักจูงให้เธอพังข้าวของในบ้าน
.
โชคดีที่เด็กน้อยไม่หลงกลและตะโกนเรียกแม่ให้ขึ้นมาช่วย ผู้เป็นแม่จึงได้ถอนการติดตั้งกล้องวงจรปิดยี่ห้อนี้ออกหมดทั้งบ้านและเรียกร้องไปยังบริษัท Ring ด้วย แต่เหตุการณ์การคุกคามครั้งนี้ก็อาจจะยังติดอยู่ในใจของเหยื่อตลอดไป ดังนั้นก่อนจะล็อคอินอะไรสักอย่าง เราต้องเช็คที่มาที่ไปให้ดีก่อน รวมถึงใช้ชื่อไอดีและรหัสผ่านที่หลากหลายด้วย เพื่อให้คนร้ายแฮกเข้ามาได้ยากขึ้น
.
3.เทคโนโลยีจดจำใบหน้า (Facial Recognition)
เชื่อว่าเพื่อนๆ ทุกคนคงคุ้นเคยกับเทคโนโลยีนี้ดีอยู่แล้ว อย่างเวลาเราถ่ายรูปคู่กับเพื่อนและนำไปลงบนโซเชี่ยลมีเดีย ทางแพลตฟอร์มก็จะสแกนใบหน้าทุกคนในรูปและถามเรากลับมาทันทีว่าคนคนนี้ใช่เพื่อนของเรามั้ย เพื่อให้เราสามารถแท็กเพื่อนลงไปในรูปได้อย่างง่ายดาย แต่อันที่จริงแล้วเทคโนโลยีการจดจำใบหน้านี้เกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลอย่างคาดไม่ถึง
.
เพราะบางครั้งบริษัทที่ใช้เทคโนโลยีจดจำใบหน้าอาจจะแอบเอาข้อมูลส่วนตัวของเราไปขายให้กับบริษัทอื่นๆ โดยไม่ได้รับอนุญาติจากเราได้ด้วย แถมในบางครั้งการจดจำใบหน้าก็ไม่แม่นยำพอ ซึ่งอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้ เช่น การสแกนใบหน้าเพื่อตรวจสอบประวัติอาชญากร แต่หน้าเราดันไปคล้ายกับคนอื่นในระบบนั้น เป็นต้น ดังนั้นก่อนที่เราจะยินยอมให้ใช้การจดจำใบหน้า เราก็ควรตรวจสอบความน่าเชื่อถือของบริษัทนั้นๆ ก่อน รวมถึงพิจารณาด้วยว่าข้อมูลที่เราต้องเสียคุ้มค่ากับสิ่งที่ได้รับมาหรือเปล่า
.
4.ไวรัสที่มาจาก AI
ช่วงโควิดที่ผ่านมาทำให้เราต้องเลี่ยงจากสัมผัสระหว่างคนสู่คนให้ได้มากที่สุด ทำให้หลายๆ ที่เริ่มเอา AI มาใช้ทำงานแทนมนุษย์มากขึ้น เพื่อลดการเผชิญหน้าของคนกับคนลง อย่างโรงพยาบาลในประเทศจีนก็ได้มีการนำ AI มาช่วยตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 ในกลุ่มผู้ป่วยจากเมืองอู่ฮั่นด้วย แต่เนื่องจาก AI เองก็เป็นระบบคอมพิวเตอร์เหมือนกัน ดังนั้นแฮกเกอร์ก็อาจจะปล่อยไวรัสผ่านระบบ AI เพื่อทำให้ระบบรวนและขโมยข้อมูลไปได้เหมือนกัน
.
5.ข่าวปลอมจาก AI
นอกจากเราจะอยู่ในยุคที่เต็มไปด้วยเทคโนโลยีแล้ว เรายังอยู่ในยุคที่มีสงครามข่าวปลอมอีกด้วย และเมื่อนำทั้งสองสิ่งมารวมกัน ข่าวปลอมที่ถูกปล่อยออกมาจึงไม่ใช่แค่ภาพแชร์ในไลน์หรือข้อมูลมั่วๆ บนเฟสบุ๊คอีกต่อไป แต่ AI มีความสามารถถึงขนาดปลอมข่าวที่เป็นวิดีโอได้ด้วย โดยพวกมันสามารถสร้างภาพเคลื่อนไหวของคนที่มีชื่อเสียงให้ขยับและพูดเหมือนตัวจริงมากจนแยกแทบไม่ออก
.
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือกรณีของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา บารัค โอบามา และ โดนัลด์ ทรัมป์ ที่เคยโดนปล่อยคลิปออกมาทั้งที่เจ้าตัวไม่เคยพูดคำคำนั้นเลย ดังนั้นถึงแม้ว่าตอนนี้เราจะใช้ AI ในการตรวจสอบข่าวปลอมกันมากขึ้น แต่เพื่อให้มั่นใจได้ว่าเราจะไม่ตกเป็นเหยื่อในการเผยแพร่ข้อมูลผิดๆ เราจึงควรตรวจสอบข้อมูลด้วยตัวเองอีกครั้งก่อนแชร์นะคะ
.
เป็นยังไงกันบ้างคะกับเรื่องราวของ 5 เทคโนโลยีอันตรายที่เราหยิบยกมาฝากกัน ถ้าใครรู้แล้วก็อย่าลืมแชร์บทความนี้ออกไปให้คนรอบตัวได้รับรู้และระวังตัวเพิ่มมากขึ้นด้วยนะคะ และถ้าหากใครชื่นชอบบทความสาระดีดีอย่างนี้ ก็อย่าลืมกดไลค์และติดตามเฟสบุ๊คแฟนเพจ eduHUB ไว้ เพื่อจะได้ไม่พลาดบทความและคลิปใหม่ๆ ของพวกเราด้วยนะคะ ขอบคุณค่ะ