ความแก่ชรา 4 แบบ – คุณจะเป็นแบบไหน เมื่ออายุมากขึ้น

ด้วยอัตราการเกิดที่ลดลงในหลายๆ ประเทศ อย่างเช่น ประเทศญี่ปุ่น อิตาลี เยอรมัน และสวีเดน ซึ่งเป็นผลมาจากการที่คนหนุ่มสาวแต่งงานกันน้อยลงและมีลูกน้อยลง ทำให้หลายประเทศในโลกตอนนี้กำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัว 
.

ถ้าหากวัดตามคำนิยามของสหประชาชาติคือ ประเทศใดที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป จำนวน 10 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมดในประเทศ ประเทศนั้นก็จะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ แต่ถ้าหากมีจำนวนผู้สูงอายุแตะถึง 20 เปอร์เซ็นต์เมื่อไหร่ ประเทศนั้นก็จะถือเป็นประเทศที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์
.

และถึงแม้ว่าประเทศไทยจะมีอัตราการท้องไม่พร้อมสูงมาก แต่ในกลุ่มคนชนชั้นกลางขึ้นไปมีแนวโน้มจะแต่งงานช้าลงและมีลูกน้อยลงมาก บางคนถึงขั้นไม่อยากแต่งงานเลยกมี ทำให้ประเทศไทยเองก็กำลังจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ในเร็วๆ นี้เช่นเดียวกัน
.

แล้วเพื่อนๆ ล่ะคะตอนนี้อายุเท่าไหร่กันแล้ว และถ้าวันนึงเราอายุมากขึ้น เคยลองจินตนาการเล่นๆ ดูมั้ยคะว่าสภาพร่างกายเราจะเป็นอย่างไร แล้วเราใช้ชีวิตอย่างไรต่อจากนี้ เพราะถ้าหากตัดเรื่องเศรษฐกิจออก แม้แต่เรื่องความแก่ชราเองก็ยังสามารถแบ่งออกได้ถึง 4 แบบ โดยวัดตามความเสื่อมจากอวัยวะต่างๆ แต่ความแก่ทั้ง 4 แบบนี้จะมีอะไรบ้าง และเพื่อนๆ จะเป็นแบบไหน ก็ลองมาติดตามชมไปพร้อมๆ กันเลยนะคะ
.

เมื่อคนเราแก่ตัวลง ร่างกายของเราก็ย่อมเสื่อมถอยไปเป็นธรรมดา ซึ่งทีมนักวิจัยก็ได้ใช้ความเสื่อมถอยนี้เป็นตัวแบ่งประเภทของความแก่ชรา (ageotype) ของคนแต่ละคน โดยการค้นพบนี้จัดทำโดยทีมนักวิจัยจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา และได้ตีพิมพ์ลงในวารสาร Nature Medicine ที่เป็นวารสารบทความการแพทย์แบบรายเดือน
.

ในงานวิจัยได้มีการวิเคราะห์ข้อมูลสุขภาพจากกลุ่มตัวอย่างที่มีอายุ 29-75 ปี จำนวนรวมทั้งสิ้น 43 คน และมีการติดตามเก็บข้อมูลสุขภาพของแต่ละคนอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน 2 ปี เพื่อดูค่าความเปลี่ยนแปลงทางชีวภาพ (biomarkers) ของร่างกายที่แสดงให้เห็นถึงความเสื่อมถอยในรายบุคคล
.

โดยรวมแล้วตัวบ่งชี้ทางชีวภาพมีจำนวนทั้งสิ้นกว่า 600 ชนิด ทั้งสารก่อการอักเสบ จุลินทรีย์ สารพันธุกรรม โปรตีนประเภทต่างๆ สารที่มีผลมาจากเมตาบอลิซึม ฯลฯ และจากการวิเคราะห์ผลทั้งหมดแล้ว ทีมนักวิจัยก็สามารถแบ่งความแก่ชราออกได้เป็น 4 ประเภทใหญ่ๆ ดังนี้
.

1.กลุ่มภูมิคุ้มกันชรา

คนที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มจะนี้พบสารก่อการอักเสบสะสมในร่างกายมากกว่ากลุ่มอื่นๆ ซึ่งนั่นแสดงให้เห็นว่าระบบภูมิคุ้มกันของคนกลุ่มนี้ทำงานได้ไม่ค่อยดีนัก หรือก็คือระบบภูมิคุ้มกันเริ่มชราภาพลงแล้วนั่นเอง
.

2.กลุ่มตับชรา

ตับของคนในกลุ่มนี้จะทำงานได้แย่ลง ทั้งการกักเก็บสารอาหารและกำจัดสารพิษในร่างกาย
.

3.กลุ่มไตชรา

เช่นเดียวกับคนที่อยู่ในกลุ่มตับชรา ไตของคนที่อยู่ในกลุ่มไตชราจะทำงานได้แย่ลง ขับถ่ายของเสียและรักษาสมดุลของน้ำและเกลือแร่ในร่างกายได้น้อยลง
.

4.กลุ่มระบบเผาผลาญชรา

คนในกลุ่มนี้จะมีน้ำตาลในเลือดสูงมาก เนื่องจากร่างกายไม่สามารถเผาผลาญและนำน้ำตาลกลูโคสไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
.

ทั้งนี้เราวัดประเภทของความแก่ชราจากความเสื่อมของอวัยวะต่างๆ โดยตรง ดังนั้นจึงไม่เกี่ยวกับว่าเราจะอายุเท่าไหร่ ในคนกลุ่มตับชราอาจจะอายุเพียงแค่ 30 ปี แต่มีสภาพตับเทียบเท่ากับคนอายุ 60 ปีก็ได้
.

นอกจากนี้บางคนอาจมีความก่ำกึ่งระหว่างความแก่ชราหลายแบบรวมกัน หรืออาจจะมีประเภทของความแก่ชราแบบใหม่ที่ไม่ได้ระบุในงานวิจัยนี้ด้วยก็ได้ เพราะทีมวิจัยได้แบ่งประเภทของความแก่ชราจากตัวบ่งชี้ที่มีทั้งหมดกว่า 600 ชนิดให้เหลือเพียงแค่ 4 กลุ่ม ซึ่งอันที่จริงแล้วมันอาจจะมีประเภทอื่นนอกเหนือจากนี้อีกก็ได้
.

อย่างไรก็ตาม การที่เราสามารถแบ่งประเภทของความแก่ชราของแต่ละคนได้จะช่วยให้แพทย์สามารถวิเคราะห์สภาพร่างกายของผู้ป่วยได้ง่ายขึ้นในอนาคต และส่งผลให้แพทย์สามารถเลือกการรักษาที่เหมาะสมกับแต่ละคนได้มากขึ้นต่อไป
.

เป็นไงบ้างคะเพื่อนๆ ถึงแม้เราจะจั่วหัวมาว่าพูดถึงเรื่องความแก่ชรา แต่อันที่จริงแล้วเราก็ไม่ได้หมายถึงเรื่องของอายุเพียงอย่างเดียว ทว่าเป็นเรื่องของสภาพการทำงานของอวัยวะต่างๆ ดังนั้นเรื่องความแก่ชราแต่ละประเภทจึงอาจเป็นเรื่องใกล้ตัวกว่าที่เราคิดมาก เพราะไม่แน่ว่าถึงแม้ตอนนี้เราจะอายุไม่มาก แต่ระบบภายในร่างกายของเราอาจเสื่อมถอยลงไปแล้วก็ได้
.

เพราะฉะนั้นถ้าหากเพื่อนๆ ยังไม่อยากให้อวัยวะแก่ก่อนวัยก็ควรหันมารักษาสุขภาพ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เลี่ยงการสูบบุหรี่หรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พักผ่อนให้เพียงพอ รวมถึงออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอด้วยนะคะ
.

แล้วเพื่อนๆ มีความคิดเห็นอย่างไรบ้างเกี่ยวกับบทความนี้ คิดว่าตัวเองน่าจะถูกจัดอยู่ในกลุ่มไหนหรือคิดว่าตัวเองน่าจะอยู่ในกลุ่มพิเศษที่นอกเหนือจากนี้ ก็ลองคอมเม้นต์เข้ามาบอกกันได้นะคะ และถ้าหากใครชื่นชอบบทความสาระดีดีอย่างนี้ ก็อย่าลืมกดติดตามช่องและกดกระดิ่งแจ้งเตือนช่อง eduHUB ไว้ เพื่อจะได้ไม่พลาดบทความและคลิปใหม่ๆ ของพวกเราด้วยนะคะ ขอบคุณค่ะ