ดวงอาทิตย์มีฝาแฝด

เมื่อนานมาแล้วเมื่อครั้งกำเนิดจักรวาลเมื่อ 15,000 ล้านปีมาก่อน เกิดการระเบิดครั้งรุนแรงและรวดเร็วอันทำให้เกิดหมอกขนาดใหญ่ที่เมื่อเวลาผ่านไปเย็นตัวลงก็เกาะกลุ่มกันกลายเป็นอะตอม ซึ่งเมื่อมันเกิดพลังงานและก่อร่างรวมกันภายใต้แรงโน้มถ่วง อะตอมเหล่านั้นก็รวมตัวกันกลายเป็นกาแลกซี่และดวงดาวต่างๆ
.

ซึ่งนั่นเองคือการขยายตัวของจักรวาลและเกิดสิ่งต่างๆอย่างเช่นในปัจจุบัน ดวงอาทิตย์ก็เป็นดาวฤกษ์ดวงหนึ่งซึ่งถือกำเนิดมาพร้อมกับการกำเนิดจักรวาล แต่ใครจะไปรู้ว่า เหล่าบรรดาดาวฤกษ์ มันมักจะกำเนิดออกมาเป็นคู่ หรือว่าเป็นบัดดี้กัน และดาวฤกษ์ดวงไหนจะเป็นดาวบัดดี้กับดวงอาทิตย์ของเรา
.

อย่างที่เราได้เกริ่นนำไปว่าการกำเนิดของจักรวาลเกิดจากการระเบิดครั้งยิ่งใหญ่ที่ทำใหม่มวลทุกมวลที่มีอยู่สั่นคลอน เกิดหมอกขนาดใหญ่หลังการระเบิด และมีการรวมตัวกันหลังแรงของระเบิดเย็นตัวลง ก่อกำเนิดเป็นดาวฤกษ์ ดาวเคราะห์ และวัตถุต่างๆในอวกาศ การระเบิดในครั้งนั้น นักวิทยาศาสตร์เรียกมันว่า การระเบิดบิ๊กแบง
.

หลังจากการระเบิดบิ๊กแบงนั้นจักรวาลเกิดการขยายตัวและกระจายกันไปคนละทิศคนละทาง แต่ก็ยังมีพลังงานซึ่งมันก็คือแรงโน้มถ่วงที่จะดึงทุกสิ่งทุกอย่างกลับเข้ามาหากัน วัตถุแต่ละวัตถุที่ถือกำเนิดขึ้นต่างก็มีแรงโน้มถ่วงของตัวเอง แต่จะมากหรือจะน้อยก็ขึ้นอยู่กับมวลและขนาดของวัตถุนั้นๆ แรงโน้มถ่วงถือว่าเป็นพลังงานหลักที่สำคัญที่ทำให้สิ่งต่างๆในจักรวาล จับมือรวมกลุ่มเป็นกระจุกกลายเป็นระบบต่างๆ และกาแลกซี่
.

ในส่วนของกาแล็กซี่ก็ยังจะมีกลุ่มก๊าซขนาดเล็กที่มีพลังงานในตัวเองเรียกว่าดาวฤกษ์ ในสมัยก่อนหลังจากการกำเนิดจักรวาลนั้น นักวิทยาศาสตร์พบว่า ดาวฤกษ์ที่เกิดขึ้นจากก้อนแก๊ซขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่มักจะอยู่รวมตัวกันเป็นกลุ่มๆ ยิ่งเวลาผ่านไปแรงโน้มถ่วงยิ่งดึงดูดกลุ่มแก๊ซน้อยใหญ่เข้าด้วยกันกลายเป็นก้อน ซึ่งก้อนนั้นจะรวมตัวกันแน่นขึ้น มีมวลมากขึ้น และสุดท้ายกลายเป็นดาวฤกษ์ที่มีพลังงานในตัวเอง
.

ถึงแม้ว่ามันจะขมวดตัวรวมกันกลายเป็นก้อนเดียวกันเป็นดาวฤกษ์จำนวนหนึ่งดวงแล้ว มันก็ยังคงมีดาวฤกษ์ดวงอื่นๆที่อยู่ข้างๆ มีลักษณะคล้ายคลึงกัน ขนาดพอๆกันอยู่คู่กับดาวฤกษ์ดวงนั้นด้วย นั่นหมายความว่า เมื่อดาวฤกษ์ถือกำเนิดขึ้นมาแล้ว มันจะมีดาวคู่แฝดของมันที่กำเนิดมาพร้อมๆกับมัน และอยู่ข้างๆกันด้วย
.

นักวิทยาศาสตร์ยังพบอีกว่า ร้อยละ 85 ของดาวฤกษ์ทั้งหมดในจักรวาลอยู่กันเป็นคู่ ซึ่งมันจะอยู่ในบริเวณใกล้ๆกัน และโคจรรอบๆกัน จากผลการวิจัยของนักวิทยาศาสตร์ที่สรุปมาแบบนี้ ทำเอาเพื่อนๆแปลกใจกันหรือเปล่า ว่าทำไมในระบบสุริยะของเรานั้น เราถึงเห็นมีแค่ดวงอาทิตย์ดวงเดียวที่เป็นดาวฤกษ์ ไม่เห็นจะมีดาวฤกษ์ที่คู่กับมันอยู่ใกล้ๆเลย หรือว่า ดวงอาทิตย์จะเป็นดาวฤกษ์ส่วนน้อย ที่อยู่แยกออกมาอย่างโดดเดี่ยวกันแน่
.

ไม่นานมานี้มีงานวิจัยออกมาพิสูจน์เรื่องนี้แล้วว่าตกลงดวงอาทิตย์ของเรา จะมีคู่หรือไม่ หรือว่ามันเป็นดาวฤกษ์ดวงเดียวที่โดดเดี่ยว คณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ณ เบิร์กลีย์ และศูนย์ฟิสิกส์ดาราศาสตร์ฮาร์วาร์ด-สมิทโซเนียน ได้ค้นคว้าหาคำตอบจากการสำรวจดวงดาวในกลุ่มเมฆโมเลกุลเพอร์ซิอัส ซึ่งเป็นเมฆโมเลกุลขนาดใหญ่ในกลุ่มดาวเพอร์ซิอัส มีระยะทางห่างจากโลกประมาณ 600 ปีแสง
.

ในส่วนของเมฆโมเลกุลเป็นบริเวณที่ก่อกำเนิดดาวฤกษ์ หากเรามองออกไปจะเห็นคล้ายๆเป็นเมฆสีดำ เพราะภายในนั้นมีโมเลกุลของไฮโดรเจนและฝุ่นหนาแน่นมากๆ โดยนักวิจัยได้ดำเนินการสำรวจบริเวณเมฆโมเลกุลนี้จากคลื่นวิทยุ ซึ่งผลสำรวจพบว่า ในบริเวณเมฆโมเลกุลเพอร์ซิอัส มีทั้งการกำเนิดดาวฤกษ์ที่มีลักษณะดาวเดี่ยวและดาวคู่
.

และเมื่อเขาได้มุ่งประเด็นไปที่ดาวคู่จึงได้ทำการศึกษาต่อและพบอีกว่า หากแบ่งดาวคู่ออกเป็นสองกลุ่ม ตามระยะเวลาการกำเนิด ดาวคู่ที่มีอายุน้อยจะมีระยะห่างระหว่างดาวประมาณ 500 หน่วยดาราศาสตร์ ส่วนดาวคู่ที่มีอายุมากแล้วจะมีระยะห่างระหว่างดาวประมาณ 200 หน่วยดาราศาสตร์
.

ซึ่งเมื่อนักวิจัยได้ตัวเลขดังเช่นนี้มาจึงนำมาสร้างแบบจำลองเพื่ออธิบายการจัดกลุ่มและการอยู่กันเป็นคู่ของดาวฤกษ์พบว่า ดาวฤกษ์ที่มวลใกล้เคียงและมีอายุเกือบๆจะเท่ากับดวงอาทิตย์ทุกดวงจะมีคู่เสมอตั้งแต่กำเนิดมา โดยตอนแรกจะเป็นดาวคู่ที่อยู่ใกล้กันก่อน และหลังจากนั้นดาวฤกษ์ทั้งสองดวงจะค่อย ๆ แยกห่างออกจากกันจนกลายเป็นดาวฤกษ์เดี่ยวสองดวง หรือในอนาคตอาจจะค่อยวนกลับมาเข้าใกล้กันมากขึ้นกลายเป็นดาวคู่แบบเดิม
.

จากงานวิจัยและแบบจำลองที่นักวิจัยได้สร้างขึ้นนั้นชี้ให้เห็นว่า ดวงอาทิตย์ของเราน่าจะต้องเคยมีคู่มาแล้วแน่ๆ และตอนนี้เวลาผ่านไปเนิ่นนานแล้ว คู่ของดวงอาทิตย์อาจจะแยกย้ายไปอยู่ไกลจนเราไม่สามารถมองเห็นได้ ซึ่งก็เกิดความสงสัยต่อมาอีกว่าแล้วดาวคู่ ที่เคยอยู่คู่กับดวงอาทิตย์นั้นคือดาวอะไร แล้วตอนนี้ไปอยู่ไหนแล้ว ความสงสัยเหล่านี้กลายเป็นสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ต้องหาคำตอบ
.

ซึ่งพวกเขาก็ไม่รอช้า ได้ดำเนินการสำรวจว่าดาวฤกษ์ดวงไหนเข้าข่ายว่าน่าจะเป็นดาวคู่แฝดของดวงอาทิตย์ การหาคำตอบในครั้งนี้กลายเป็นหน้าที่ของนักวิจัยคณะหนึ่งจากสถาบันฟิสิกส์ดาราศาสตร์และวิทยาศาสตร์อวกาศในโปรตุเกส ซึ่งพวกเขาได้ใช้เทคโนโลยีที่ล้ำสมัยในการค้นหาดาวที่มีลักษณะที่คล้ายคลึงกับดวงอาทิตย์โดยมีอายุพอๆกัน ขนาดมวลเท่าๆกัน และมีคุณสมบัติหลายๆอย่างที่ใกล้เคียงกัน
.

จนพบว่า ในบริเวณที่ห่างจากดวงอาทิตย์ไปประมาณ 184 ปีแสง พบดาวเอชดี 186302 (HD186302) ที่มีคุณสมบัติดังกล่าว โดยเจ้าตัวดาวเอชดี 186302 นี้เองพบว่ามันเกิดมาจากกลุ่มแก๊ซเดียวกันกับกลุ่มแก๊ซที่กำเนิดดวงอาทิตย์เป็นดาวที่อยู่ในลำดับเดียวกับดวงอาทิตย์ แต่มีขนาดใหญ่กว่าดวงอาทิตย์เล็กน้อย มีพลังงานของตัวเองและมีกำลังในการส่องสว่างรวมถึงอุณหภูมิเหมือนกับดวงอาทิตย์
.

นอกจากนี้องค์ประกอบธาตุต่างๆก็ยังคล้ายคลึงกับดวงอาทิตย์อีกด้วย เรียกได้ว่า ในระยะทางที่ใกล้ที่สุดก็มีดาวเอชดี 186302 ดวงนี้แหละที่เป็นดาวฤกษ์ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับดวงอาทิตย์มากที่สุดจึงไม่น่าแปลก ที่ทางนักวิจัยจะได้ตั้งสมมติฐานว่ามันคือดาวฤกษ์ที่เป็นฝาแฝดกับดวงอาทิตย์
.

เรื่องราวเหล่านี้ฟังดูเผินๆเหมือนจะไม่มีอะไรมาก แต่ถ้าเพื่อนๆลองคิดดูดีๆว่า ดวงอาทิตย์เป็นดาวฤกษ์แห่งเดียวในระบบสุริยะ ที่โลกของเรานั้นโคจรและใช้พลังงานในการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิตบนโลก และในตอนนี้ที่เราเจอดาวเอชดี 186302  ที่คาดว่าจะเป็นดาวฤกษ์ฝาแฝดของดวงอาทิตย์นั่นหมายความว่า ในระบบที่ดาวเอชดี 186302 อาศัยอยู่นั้น อาจจะมีดาวเคราะห์ ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับโลกโคจรอยู่เช่นเดียวกับดวงอาทิตย์
.

ซึ่งก็แปลว่า ในระบบดาวฤกษ์ดวงนั้นอาจจะมีดาวที่มีสิ่งมีชีวิตอยู่ก็เป็นไปได้ ด้วยระยะทางไม่กี่ร้อยปีแสง ไม่น่าจะยากเกินกว่าที่มนุษย์เรานั้นจะพัฒนายานอวกาศให้ออกไปสำรวจระบบดาวฤกษ์ดวงนั้น และในอนาคตเราอาจพบข่าวดี ว่าในจักรวาลแห่งนี้ไม่ได้มีแค่โลกของเราเท่านั้นที่มีสิ่งมีชีวิตเพียงลำพัง
.

และนี่คือเรื่องราวของฝาแฝดของดวงอาทิตย์หรือว่าดาวฤกษ์คู่ของดวงอาทิตย์นั่นเอง ใครจะไปรู้ว่าดวงอาทิตย์ที่เราเห็นทุกวันว่ามีดวงเดียวจะมีฝาแฝดขึ้นมา และก็เป็นเรื่องของนักวิทยาศาสตร์ต่ออีกว่าเขาจะดำเนินการสำรวจระบบดาวฤกษ์นั้นยังไงต่อไป เพื่อนๆละคะ คิดว่ายังไงกันบ้าง เพื่อนๆคิดว่า ระบบของดาวฤกษ์ดาวเอชดี 186302  จะมีดาวเคราะห์ที่มีสิ่งมีชีวิตเหมือนกับโลกหรือเปล่า สามารถมาพูดคุยคอมเมนท์กันได้เลยนะคะ สำหรับวันนี้มีเพียงเท่านี้แต่ก่อนจะไปรับชม อย่าลืมกด Like กด Subscribe และกดกระดิ่งแจ้งเตือนช่อง eduHUB เพื่อที่เพื่อนๆจะไม่พลาดการรับชมครั้งต่อไป