ในช่วงนี้ แม้ว่ากำลังจะเข้าหน้าฝนแล้ว แต่อากาศก็ยังคงร้อนระอุจนไม่หลายคนอาจเริ่มไม่แน่ใจแล้วว่าเรากำลังใช้ชีวิตอยู่บนโลกหรือใช้กรรมอยู่ในนรกกันแน่ เคราะห์ดีที่อย่างน้อยในช่วงนี้ก็ยังมีฝนตกลงมาบ้างในบางวัน เพื่อให้อากาศที่ร้อนตับแลบได้เย็นตัวลงบ้าง
ถึงกระนั้นฝนที่ตกลงมาในเมืองใหญ่กลับไม่ได้ทำให้เรารู้สึกสุขใจเท่าใดนัก เพราะเมื่อใดที่ฝนตก นั่นหมายถึงน้ำท่วม ไฟดับ รถติด ผ้าที่ตากไว้ไม่แห้ง เดินทางกลับบ้านลำบาก และปัญหาอีกมากมายสารพัด ดังนั้นเมื่อฝนตกลงมาในเมืองที่เต็มไปด้วยกลิ่นของฝุ่นควันและมลพิษ หลายคนอาจหวนคิดถึงภาพฝนตกที่ต่างจังหวัด ซึ่งดูจะเป็นภาพที่น่าอภิรมย์กว่ามาก เพราะถึงแม้ฝนจะตกเหมือนกัน แต่ทุกครั้งที่ฝนตกลงมาจะมีเสียงอึ่งอ่างร้อง เสียงเม็ดฝนตกกระทบกับหลังคาและต้นไม้ใบหญ้า ภาพของต้นไม้สีเขียวขจีที่ดูชุ่มช่ำยามได้เล่นน้ำ รวมไปถึงกลิ่นหอมของไอดินกลิ่นฝนที่ชวนให้คิดถึง
กลิ่นหอมเย็นอ่อนๆ ของไอฝนนี้เองก็เป็นหนึ่งในกลิ่นที่หลายคนชื่นชอบเป็นอันดับต้นๆ ไม่แพ้กลิ่นของดอกไม้หรือน้ำหอมราคาแพงเลยทีเดียว เพราะนอกจากกลิ่นหอมฝนจะช่วยให้เรานึกถึงภาพวันคืนเก่าๆ ที่แสนสุขในอดีตแล้ว กลิ่นกรุ่นไอดินหลังฝนตกยังช่วยให้เรารู้สึกผ่อนคลายอย่างน่าประหลาดอีกด้วย แต่เพื่อนๆ เคยสงสัยมั้ยว่ากลิ่นหอมหลังฝนตกนี่มาจากไหน และมีไว้เพื่ออะไร เรามาหาคำตอบไปพร้อมๆ กันเลยค่ะ
ผลการศึกษาเรื่องไอดินกลิ่นฝนถูกตีพิมพ์ลงในวารสารวิชาการชื่อ Nature Microbiology ซึ่งเป็นวารสารเกี่ยวกับจุลชีววิทยาธรรมชาติ ในงานวิจัยระบุไว้ว่าต้นตอของกลิ่นหอมมาจากแบคทีเรียสกุลสเตรปโตมายซีสชื่อ “เพทริเคอร์” หรือ “เพไทรคอร์” (Petrichor) เป็นแบคทีเรียหน้าตาคล้ายเชื้อราที่เมื่อพวกมันตายลง พวกมันจะหลั่งสาร “จีโอสมิน” (Geosmin) ออกมาผสมกับดิน และเมื่อสารตัวนี้โดนน้ำฝนจะเกิดเป็นกลิ่นหอมเย็นสดชื่นขึ้นมา หรือก็คือกลิ่นหอมหลังฝนตกที่พวกเราชื่นชอบกันนั่นเอง
แล้วสาเหตุที่พวกมันต้องสร้างกลิ่นหอมขึ้นมาทั้งที่ตัวเองตายไปแล้วก็เพื่อดึงดูดให้สัตว์ขาปล้องและแมลงต่างๆ อย่าง กิ้งกือ มด ปลวก ตะขาบ ฯลฯ ออกมากินซากของพวกมันนั่นเอง พูดอีกอย่างก็คือสัตว์ขาปล้องเหล่านั้นก็ชื่นชอบกลิ่นหอมฝนเช่นเดียวกับเรา แถมกลิ่นหอมที่ว่ายังมีจากซากแบคทีเรียอีกต่างหาก… เริ่มฟังดูเป็นกลิ่นที่ไม่ค่อยน่าอภิรมย์แล้วใช่มั้ยคะ
ทั้งนี้ เพื่อนๆ บางคนอาจจะสงสัยว่า แล้วแบคทีเรียพวกนี้จะอยากให้สัตว์ตัวอื่นมากินซากของพวกมันทำไม เพราะถ้าหากไม่มีกลิ่นหอมนี้ ซากของพวกมันก็จะไม่ถูกกินแล้วแท้ๆ
เหตุผลที่แบคทีเรียต้องทำเช่นนี้ก็เพราะว่าพวกมันต้องการขยายพันธุ์ออกไปยังที่ไกลๆ นั่นเอง แต่เนื่องจากตัวมันเองมีขนาดเล็กมาก เดินไปเองก็คงจะไปได้ไม่ไกลนัก ดังนั้นเมื่อมันตายลงมันจึงสร้างกลิ่นหอมล่อให้สัตว์ขาปล้องและแมลงเข้ามา เมื่อแมลงต่างๆ กินซากของมันเข้าไปแล้ว สปอร์ของแบคทีเรียจะไปติดอยู่ตามใบหน้าและขาของแมลง และเนื่องจากสัตว์เหล่านี้มักอาศัยอยู่ในดินอยู่แล้ว เวลาที่พวกมันมุดลงไปใต้ดิน สปอร์ของแบคทีเรียก็จะกระจายไปติดตามที่ต่างๆ ด้วย
แล้วนอกจากสปอร์ที่ติดตามใบหน้าและขาของแมลงแล้ว ยังมีสปอร์อีกส่วนหนึ่งที่อยู่ในกระเพาะของพวกมัน ซึ่งสปอร์ในส่วนนี้จะถูกขับถ่ายออกมาพร้อมกับมูลของแมลงและกลับลงไปสู่ดินอีกครั้ง ซึ่งสปอร์เหล่านี้จะสามารถเดินทางออกไปได้ไกลกว่าที่ติดตามขาและใบหน้าของแมลงเสียอีก
ในงานวิจัยนี้ยังได้พิสูจน์ให้เห็นอีกด้วยว่า กลิ่นหอมฝนสามารถดึงดูดแมลงได้จริงๆ โดยทีมนักวิจัยได้ทำการทดลองสร้างกับดักแมลงขึ้นมาและใส่สารอินทรีย์ที่มีกลิ่นต่างๆ ลงไป รวมถึงสารจีโอสมินที่ให้กลิ่นหอมฝนด้วย หลังจากนั้นทีมงานก็ได้ปล่อยสัตว์ขาปล้องและแมลงลงไป เพื่อดูว่าแมลงเหล่านั้นจะมีปฏิกิริยาต่อกลิ่นต่างๆ อย่างไร ผลที่ได้ปรากฏว่าสัตว์ขาปล้องและแมลงส่วนใหญ่เลือกเข้าไปในกับดักที่มีกลิ่นหอมฝนมากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะแมลงหางดีด (Springtail) ที่มักพบได้ในป่าใต้ซากใบไม้เน่าเปื่อย ซึ่งพวกมันดูจะชอบกลิ่นนี้เอามากๆ
“นี่เป็นเรื่องของผลประโยชน์ร่วมกัน” มาร์ค บัทท์เนอร์ (Mark Buttner) หนึ่งในสมาชิกทีมวิจัย กล่าว “แมลงหางดีดกินแบคทีเรียสเตรปโตมายซีสเข้าไป เพราะสารกลิ่นหอมนี้ชี้ให้เห็นว่าในดินมีแหล่งอาหารที่มีคุณค่า และเมื่อแมลงหางดีดก็กินสปอร์เข้าไป มันก็จะช่วยแพร่กระจายสปอร์ให้แบคทีเรียด้วย เช่นเดียวกับนกที่กินผลไม้ พวกมันได้อาหารแต่ในขณะเดียวกันก็ช่วยแพร่กระจายเมล็ดของต้นไม้ไปด้วย ซึ่งนับว่าเป็นประโยชน์ต่อต้นไม้อย่างมาก”
กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ กลิ่นหอมไอฝนนี้เป็นส่วนช่วยในการขับเคลื่อนระบบนิเวศต่อไปนั่นเอง แล้วเพื่อนๆ ล่ะคะมีความคิดเห็นอย่างไรบ้าง พอรู้แล้วว่ากลิ่นหอมฝนนี้เกิดจากซากของแบคทีเรียที่เอาไว้ใช้ล่อแมลงแล้วเพื่อนๆ ยังคงชอบกลิ่นหอมฝนเหมือนเดิมอยู่มั้ยคะ
สำหรับบางคนอาจจะยังชอบอยู่เพราะยังไงกลิ่นหอมก็คือกลิ่นหอมอยู่ดี หรือบางคนอาจจะชอบเพราะเอาไปผูกกับความทรงจำบางอย่างที่น่าคิดถึงก็ได้ ซึ่งถ้าเพื่อนๆ ชอบหรือไม่ชอบ เพราะอะไร ก็ลองคอมเม้นต์เข้ามาบอกกันได้ที่เพจ eduHUB เลยนะคะ และถ้าหากใครชื่นชอบบทความสาระดีดีอย่างนี้ ก็อย่าลืมกดติดตามช่องและกดกระดิ่งแจ้งเตือนช่อง eduHUB ไว้ เพื่อจะได้ไม่พลาดบทความและคลิปใหม่ๆ ของพวกเราด้วยนะคะ