เมื่อพูดถึงปลากะตัก หลายคนอาจจะรู้จักมันในนามของปลาขนาดเล็ก ความยาวประมาณ 2–5 เซนติเมตร ถ้าให้ลึกลงกว่านั้นอีกก็คือเป็นปลาที่อยู่ในวงศ์ปลาแมว (Engraulidae) ส่วนใหญ่มักเอาไปหมักเป็นน้ำปลา และถ้าเป็นลูกของปลากะตัก เราจะเรียกว่า “ปลาข้าวสาร” ซึ่งนิยมนำไปทอดเป็นของกินเล่นหรือเอาไปใส่ในเมนูยำ แต่นอกจากปลากะตักจะเป็นที่นิยมในประเทศไทยแล้ว ต่างชาติเองก็รู้จักปลากะตักในอีกชื่อหนึ่ง นั่นก็คือ แอนโชวี่ (Anchovy) ปลาที่มักนำมาหมักในน้ำมันให้ออกรสเค็มและมีกลิ่นแรงคล้ายๆ ปลาร้าบ้านเรานั่นเอง และหลังจากนั้นจึงสามารถนำไปใช้โรยหน้าพิซซ่า สลัด หรือทำเป็นเมนูพาสต้าต่อไปได้
ถึงแม้ว่าปลากะตักจะเป็นเพียงแค่ปลาตัวเล็กๆ แต่เดิมทีแล้วพวกมันถือว่าเป็นสิ่งล้ำค่าของธรรมชาติเป็นอย่างมาก เพราะพวกมันเป็นตัวชี้วัดความสมดุลของทะเล โดยปลากะตักจะกินแพลงก์ตอนเป็นอาหาร ก่อนที่พวกมันจะกลายเป็นอาหารให้ปลาอื่นๆ อย่างปลาหมึก ปลาทู หรือปลาทรายต่อไป หรือพูดอีกอย่างก็คือถ้าหากทะเลบริเวณนั้นไม่มีปลากะตัก แสดงว่าทะเลบริเวณนั้นขาดความสมบูรณ์ทางธรรมชาติ
นอกจากปลากะตักจะเป็นส่วนสำคัญในห่วงโซ่อาหารแล้ว พวกมันยังมีสารอาหารที่มีประโยชน์มากอีกด้วย ถ้าหากเรารับประทานปลากะตักปริมาณ 3 ออนซ์ ร่างกายของเราจะได้รับพลังงาน 10 แคลอรี โดยพลังงานนี้มาจากไขมัน 4 กรัม โพแทสเซียมมากกว่า 300 มิลลิกรัม และแคลเซียมถึง 125 มิลลิกรัม ถ้าหากเรารับประทานปลากะตักในปริมาณที่พอเหมาะสม เราก็จะได้รับสารอาหารที่เพียงพอได้ไม่ยาก นับว่าเป็นปลาตัวจิ๋วที่มีประโยชน์ล้นเหลือเลยใช่มั้ยคะ แต่เพื่อนๆ รู้หรือไม่ว่า แท้จริงแล้วปลากะตักไม่ได้มีขนาดเล็กจิ๋วแบบนี้มาตั้งแต่แรก ทว่าครั้งหนึ่งมันเคยเป็นปลานักล่าที่มีความยาวถึง 1 เมตรมาก่อน!
เมื่อประมาณหลายสิบปีที่ผ่านมา ทีมนักโบราณคดีได้มีการขุดพบซากฟอสซิลปลาจำนวน 2 ตัวในประเทศเบลเยียมและปากีสถาน การขุดค้นครั้งนี้ใช้เทคนิคที่เรียกว่า “micro-computed tomography” หรือก็คือการใช้รังสีคอมพิวเตอร์ในการสแกนตัดขวางวัตถุ หลังจากนั้นคอมพิวเตอร์ก็จะสร้างแบบจำลองเสมือนจริงขึ้นมา ทำให้เราสามารถศึกษาซากฟอสซิลทั้งสองชิ้นได้โดยไม่ต้องทำลายชิ้นวัตถุเดิม คล้ายกับการทำซีทีสแกนตามโรงพยาบาลต่างๆ เพื่อตรวจเช็คภายในร่างกายผู้ป่วยโดยไม่ต้องผ่าตัดนั่นเอง
จากการสแกนพบว่าซากปลาทั้งสองมีความยาวถึง 1 เมตร แถมยังมีเขี้ยวดาบงอกยาวออกมาบริเวณด้านหน้าอีกด้วย ทีมนักโบราณคดีคาดว่าปลาเหล่านี้น่าจะมาจากสมัยอีโอซีน (Eocene Epoch) ซึ่งเป็นสมัยหนึ่งของยุคพาลีโอจีนในธรณีกาลระหว่าง 56 ถึง 33.9 ล้านปีก่อนถึงปัจจุบัน
ด้วยความสงสัยว่าปลานักล่าที่น่ากลัวนี้มันคือตัวอะไรกันแน่ ภายหลังทีมนักบรรพชีวินวิทยาจากมหาวิทยาลัยมิชิแกน ประเทศสหรัฐอเมริกา จึงได้นำซากของปลาทั้งสองกลับมาตรวจอย่างละเอียดอีกครั้งและพบว่าปลาเหล่านั้นมีอายุมากถึง 55 ล้านปี และจากลักษณะหลายๆ อย่าง จึงสรุปได้ว่าปลาตัวนี้น่าจะเป็นบรรพบุรุษของปลากะตักตัวจิ๋วในยุคปัจจุบันนี่เอง!
นี่แสดงว่า ในอดีตเมื่อนานมาแล้วปลากะตักเคยเป็นปลานักล่ามาก่อน โดยพวกมันจะใช้เขี้ยวที่แหลมคมในการสังหารเหยื่อ แต่ไม่รู้ว่าวิวัฒนาการไปๆ มาๆ ไหง๋ปลากะตักขนาดยักษ์ที่น่าเกรงขามถึงกลายเป็นกลายเป็นของกินเล่นของมนุษย์ไปได้
ดร. อเลซซิโอ กาโปเบียงโก (Alessio Capobianco) ผู้นำทีมวิจัยก็ได้อธิบายเรื่องดังกล่าวไว้ว่า ในอดีตเคยมีการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่เกิดขึ้นเช่นเดียวกับตอนที่อุกกาบาตพุ่งชนโลกจนไดโนเสาร์สูญพันธุ์ ส่งผลให้สัตว์หลายชนิดต้องพยายามเอาตัวรอดโดยการพลิกบทบาทมาเป็นนักล่าแทน ซึ่งปลากะตักเองก็เป็นหนึ่งในนั้น พวกมันส่วนหนึ่งวิวัฒานาการให้มีขนาดใหญ่ขึ้นและมีฟันที่แหลมคมจนสามารถเคี้ยวปลาขนาดเล็กกว่าได้
ทว่าน่าเศร้าที่หลังจากนั้นไม่นานปลากะตักนักล่าเหล่านี้ก็สูญพันธุ์ลงอีกครั้งด้วยเหตุผลบางประการที่ทีมวิจัยยังไม่สามารถหาคำตอบได้ เลยเหลือแต่ปลากะตักจำนวนหนึ่งที่ยังคงเป็นปลาเล็กๆ มีฟันจิ๋วๆ ไว้กินแพลงก์ตอนอยู่ และเจ้าปลาเล็กๆ เหล่านี้นี่เองที่สืบเชื้อสายมาเรื่อยๆ จนกลายเป็นอาหารกรุบกรอบของเราในที่สุด
การค้นพบนี้ถูกตีพิมพ์ลงในวารสาร Royal Society Open Science (RSOS) วารสารทางวิทยาศาสตร์ของราชสมาคมแห่งกรุงลอนดอน ซึ่งดร. กาโปเบียงโก ก็ยังได้กล่าวทิ้งท้ายไว้อีกด้วยว่า ตัวเขาเองก็อยากรู้เหมือนกันว่าปลากะตักยาว 1 เมตรนี่จะมีรสชาติเป็นอย่างไร เพราะการวิวัฒนาการที่เกิดขึ้นน่าจะส่งผลให้พวกมันมีรสชาติต่างไปจากปลากะตักที่เรากินอยู่ทุกวันนี้แน่นอน
ไม่น่าเชื่อใช่มั้ยคะที่ครั้งหนึ่งปลากะตักตัวเล็กจิ๋วเคยวิวัฒนาการเพื่อความอยู่รอดจนกลายเป็นปลานักล่ายาวถึง 1 เมตรอยู่พักนึง แต่เชื่อว่าต่อให้พวกมันสามารถเอาชีวิตรอดจากการสูญพันธุ์ครั้งนั้นมาได้ สุดท้ายแล้วมันก็คงจะกลายเป็นอาหารของมนุษย์ที่กินไม่เลือกกันอยู่ดี เพราะขนาดจระเข้ที่มีฟันกรามอันแข็งแกร่ง ปลาฉลามนักล่าที่สามารถได้กลิ่นเลือดห่างออกไปเป็นไมล์ๆ หรือแม้กระทั่งปลาวาฬที่เป็นสัตว์น้ำขนาดใหญ่ที่สุดในโลก มนุษย์เราก็ยังเคยล่ามากินกันแล้วเลย คิดว่าแค่ปลากะตักยาว 1 เมตร มีเขี้ยวดาบนิดๆ หน่อยๆ คงไม่คณามือพวกเราหรอก จริงมั้ยคะ
แล้วเพื่อนๆ ล่ะคะมีความคิดเห็นอย่างไรบ้าง อยากกินปลากะตักยาว 1 เมตรกันบ้างมั้ย และถ้าหากเรามีโอกาสได้กินปลาชนิดนี้จริง เพื่อนๆ จะเอามาปรุงเป็นเมนูอะไร ลองคอมเม้นต์เข้ามาคุยเล่นกันได้ที่หน้าเฟสบุ๊คแฟนเพจ eduHUB เลยนะคะ และถ้าหากใครชื่นชอบบทความสาระดีดีอย่างนี้ ก็อย่าลืมกดติดตามช่องและกดกระดิ่งแจ้งเตือนช่อง eduHUB ไว้ เพื่อจะได้ไม่พลาดบทความและคลิปใหม่ๆ ของพวกเราด้วยนะคะ ขอบคุณค่ะ