ดวงอาทิตย์ “อ่อนแรง” ผิดปกติ

ดวงอาทิตย์ ดาวฤกษ์ที่เป็นศูนย์กลางของระบบสุริยะ มีความสำคัญต่อระบบนิเวศของเราอย่างมาก เนื่องจากเราจำเป็นต้องพึ่งพาแสงอาทิตย์ในการดำรงชีวิต ทั้งเป็นอาหารให้ต้นไม้ ทั้งให้แสงสว่างและความอบอุ่นแก่สิ่งมีชีวิต ดังนั้นนักวิทยาศาสตร์ทั้งหลายจึงให้ความสนใจกับการศึกษาดวงอาทิตย์เป็นพิเศษ ซึ่งที่ผ่านมาเราก็เคยเห็นปรากฏการณ์การปะทุของพลังงานอันมหาศาลของดวงอาทิตย์มาแล้วมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเปลวเพลิงสุริยะ (Solar flare) พายุสุริยะ และอื่นๆ

ปรากฏการณ์เหล่านี้ย่อมส่งผลกระทบถึงโลกไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เช่น รบกวนคลื่นวิทยุบนโลก ก่อให้เกิดความเสียหายต่อเครื่องมือเทคโนโลยี ซึ่งเหตุการณ์ทั้งหลายนี้ทำให้เรารู้สึกว่าดวงอาทิตย์ของเราช่างมีพลังงานล้นเหลือ แต่เมื่อเร็วๆ นี้ นักดาราศาสตร์กลับพบว่าดวงอาทิตย์นั้นอ่อนแรงไปมาก เมื่อเทียบกับดาวฤกษ์ดวงอื่นๆ ที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงกัน! แต่นักดาราศาสตร์รู้ได้อย่างไรว่าดวงอาทิตย์กำลังอ่อนแรงลง และมันจะส่งผลกระทบอย่างไรต่อวิถีชีวิตของเราบ้าง ก็ต้องไปติดตามดูพร้อมๆ กันนะคะ

รายงานการค้นพบการอ่อนแรงลงของดวงอาทิตย์ถูกตีพิมพ์อยู่ในวารสารวิชาการ Science เขียนโดยทีมนักดาราศาสตร์จากสถาบันมักซ์พลังค์เพื่อการวิจัยระบบสุริยะ (Max Planck Institute for Solar System Research – MPS) ในประเทศเยอรมนี 

โดยในรายงานระบุว่าทีมนักดาราศาสตร์ได้ศึกษาข้อมูลทั้งหมดเกี่ยวกับดวงอาทิตย์ ไม่ว่าจะเป็นการเกิดจุดมืดบนดวงอาทิตย์ ตลอดจนปริมาณการกระจายตัวของไอโซโทปกัมมันตรังสีของธาตุในวงปีของต้นไม้และชั้นน้ำแข็งเก่าอันมีผลมาจากดวงอาทิตย์ ซึ่งทีมนักดาราศาสตร์ต้องศึกษาข้อมูลทั้งหมดย้อนกลับไปถึง 9,000 ปี แล้วเอาข้อมูลมาเรียงกันเป็นไทม์ไลน์ เพื่อดูความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับดวงอาทิตย์

ฟังดูเหมือนจะเยอะใช่มั้ยคะ แต่สำหรับดวงอาทิตย์ที่มีชีวิตมาแล้วถึง 4.6 พันล้านปี ช่วงเวลาไม่ถึงหมื่นปีก็เป็นเพียงแค่เสี้ยวหนึ่งของดวงอาทิตย์เท่านั้น ซึ่งที่ผ่านมาดวงอาทิตย์ก็มีความเปลี่ยนแปลงทางแม่เหล็กไฟฟ้าเกิดขึ้นมากมาย ทั้งการปะทุของพลังงาน การผันแปรความส่องสว่าง ซึ่งปรากฏการณ์ทั้งหมดนี้ก็ถือว่ามีความรุนแรงในระดับหนึ่ง แต่เมื่อทีมนักดาราศาสตร์นำข้อมูลที่ได้มาเปรียบเทียบกับดาวฤกษ์ดวงอื่นๆ อีก 369 ดวงที่มีอายุขัย การคาบหมุน อุณหภูมิพื้นผิว และสัดส่วนของธาตุหนักใกล้เคียงกับดวงอาทิตย์แล้ว ปรากฏว่าดวงอาทิตย์ของเรากลับมีการเปลี่ยนแปลงทางแม่เหล็กไฟฟ้าที่อ่อนแรงกว่าดาวดวงอื่นถึง 5 เท่า

“ในช่วงทศวรรษที่ผ่าน ดวงอาทิตย์แสดงให้เห็นว่ามันปล่อยพลังงานออกมาน้อยลง แม้จะเปรียบเทียบกับมาตราฐานต่ำสุดของมันก็ตาม” ทีมนักดาราศาสตร์ระบุในงานวิจัย “จากการคาดการณ์ล่วงหน้า 11 ปี พบว่าดวงอาทิตย์อาจจะยังไม่มีความเปลี่ยนแปลงอะไรเกิดขึ้นเร็วๆ นี้”

นอกจากนี้ ดร. ทีโม ไรน์โฮลด์ (Timo Reinhold) ผู้นำทีมวิจัยยังกล่าวเสริมอีกด้วยว่า ดวงอาทิตย์ไม่ได้เพิ่งเริ่มอ่อนแรงลงเมื่อไม่นานมานี้ แต่มันอยู่ในสภาวะสงบนิ่งติดต่อกันมาอย่างน้อย 9,000 ปีแล้ว และนั่นหมายความว่าที่นักวิทยาศาสตร์หลายคนคิดว่าดวงอาทิตย์กำลังปะทุพลังงานออกมาเพิ่มขึ้นนั้นผิด เพราะผลการศึกษาครั้งนี้ก็ชี้ให้เห็นแล้วว่าดวงอาทิตย์มีการเปลี่ยนแปลงพลังงานแม่เหล็กไฟฟ้าลดลง

ทั้งนี้ ดวงอาทิตย์อาจไม่ได้อยู่ในสภาวะสงบนิ่งแบบนี้ตลอดไป ในอนาคตอาจมีการเปลี่ยนแปลงทางแม่เหล็กไฟฟ้าที่สูงขึ้นในอีกหลายแสนปีถึงหลายล้านปีข้างหน้า ดังนั้นเราจึงสบายใจได้ว่าจะไม่ต้องเจอกับปรากฏการณ์พายุสุริยะหรือปรากฏการณ์อื่นๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของมนุษย์เราในเร็วๆ นี้

โดยสรุปแล้ว ถึงแม้ว่าเราจะยังไม่ทราบสาเหตุที่ดวงอาทิตย์อ่อนแรงลงหรือเข้าสู่สภาวะสงบนิ่ง แต่ก็คาดว่ามันน่าจะเป็นผลดีมากกว่าผลเสีย เนื่องจากดวงอาทิตย์ไม่ได้จะดับหรือหายไปในเร็วๆ นี้ เพราะระดับการเปลี่ยนแปลงทางแม่เหล็กไฟฟ้าของดวงอาทิตย์สามารถเปลี่ยนแปลงขึ้นลงได้เสมอ จึงเป็นเรื่องดีเสียอีกที่ดวงอาทิตย์อยู่ในสภาวะสงบนิ่ง มันจะได้ไม่เกิดผลกระทบต่อโลก

แต่อย่างที่บอกว่าระดับแม่เหล็กไฟฟ้าของดวงอาทิตย์เปลี่ยนแปลงได้เสมอ ดังนั้นในอนาคต ดวงอาทิตย์ก็อาจจะกลับมาปะทุพลังงานอย่างรุนแรงจนเกิดไฟฟ้าดับ การสื่อสารล่มไปทั้งเมืองเหมือนที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วก็ได้ แต่กว่าเหตุการณ์นี้จะเกิดขึ้นก็คงอีกนานหลายแสนปี ซึ่งในตอนนั้นเทคโนโลยีของมนุษย์เราก็อาจจะก้าวหน้าไปไกลจนเราไม่ต้องมากังวลเรื่องพายุสุริยะแล้วก็ได้

แล้วเพื่อนๆ ล่ะคะมีความคิดเห็นอย่างไรกันบ้าง ถ้าหากในอนาคตเรามีข่าวอัพเดทอะไรเกี่ยวกับดวงอาทิตย์อีก เราจะขอนำมาเล่าให้เพื่อนๆ ได้ฟังอีกครั้งนะคะ สุดท้ายนี้ ถ้าหากเพื่อนๆ ชื่นชอบบทความสาระดีดีแบบนี้ก็อย่าลืมกดติดตามและกดกระดิ่งช่อง eduHUB เพื่อเป็นกำลังใจให้พวกเรากันด้วยนะคะ ขอบคุณค่ะ