สถานการณ์โรคโควิด-19 ในปัจจุบันมีผู้ที่ได้รับการยืนยันว่าติดเชื้อทั่วโลกรวมถึง 1,803,989 คน เสียชีวิตไปแล้ว 110,859 ราย และมีผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะวิกฤต 50,494 ราย แค่ใประเทศไทยเราก็มีผู้ติดเชื้อแล้วถึง 2,579 ราย เสียชีวิตไปแล้ว 40 ราย และเป็นผู้ป่วยในขั้นวิกฤต 61 ราย
ถึงแม้ประเทศไทยเราจะไม่มียอดผู้เสียชีวิตหรือติดเชื้อสูงเท่าประเทศอื่นๆ อย่างอเมริกาหรืออิตาลี แต่ภาวะโรคระบาดนี้ก็ก่อให้เกิดความกังวลใจให้กับคนไทยเราไม่น้อยเลยทีเดียว เนื่องจากโรคดังกล่าวนี้มักจะไม่แสดงอาการใดๆ ในเบื้องต้น ทำให้หลายคนเกิดความตื่นตระหนก ไม่รู้ว่าตัวเองจะติดเชื้อแล้วหรือยัง และคนรอบข้างนี่กำลังจะแพร่เชื้อใส่เราด้วยมั้ย นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงเพราะภาวะโรคระบาดอีก ไม่ว่าจะมองไปทางไหนก็มีแต่เรื่องเครียดและน่าหดหู่ใจไปซะหมด
แต่ท่านผู้อ่านรู้หรือไม่ว่า โควิด-19 นี้ไม่ใช่โรคระบาดครั้งแรกในไทย เพราะก่อนหน้านี้ ประเทศไทยเราเคยประสบกับภาวะโรคระบาดมาแล้วหลายครั้ง และหนึ่งในนั้นก็คือโรคไข้หวัดใหญ่ ในปี 2461 ที่คร่าชีวิตผู้คนไปแล้วมากมาย ดังนั้นวันนี้พวกเรา eduHUB จะพาเพื่อนๆ ไปเรียนรู้เรื่องไข้หวัดใหญ่ โรคระบาดเมื่อ 101 ปีที่แล้วกัน
การระบาดของไข้หวัดใหญ่นี้ถูกตีพิมพ์ลงในราชกิจจานุเบกษาวันที่ 3 พฤศจิกายน 2461 ในนั้นระบุว่ามียอดผู้ป่วยใน 17 มณฑล ไม่รวมกรุงเทพพระมหานคร รวมแล้ว 2,317,662 คน ซึ่งเท่ากับประมาณ 1 ใน 4 ของประชากรทั้งหมด และมีผู้เสียชีวิตรวมทั้งสิ้น 80,223 คน โดย 10 จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตจากโรคไข้หวัดใหญ่มากที่สุด ได้แก่
- เชียงใหม่ เสียชีวิต 5,641 / ติดเชื้อ 56,609
- สุรินทร์ เสียชีวิต 4,725 / ติดเชื้อ 140,298
- เชียงราย เสียชีวิต 4,595 / ติดเชื้อ 61,904
- ร้อยเอ็ด เสียชีวิต 3,967 / ติดเชื้อ 91,833
- ขอนแก่น เสียชีวิต 3,765 / ติดเชื้อ 80,977
- อุบล เสียชีวิต 3,602 / ติดเชื้อ 185,272
- กาฬสินธุ์ เสียชีวิต 3,254 / ติดเชื้อ 26,197
- ขุขันธ์ เสียชีวิต 3,115 / ติดเชื้อ 36,571
- มหาสารคาม เสียชีวิต 2,747 / ติดเชื้อ 39,732
- น่าน เสียชีวิต 2,569 / ติดเชื้อ 19,007
โดยรวมแล้ว โรคไข้หวัดใหญ่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสอินฟลูเอนซา (Influenza virus) ผู้ป่วยจะมีอาการคล้ายกับไข้หวัดธรรมดาแต่รุนแรงกว่า และออกอาการติดเชื้อทันที ต่างกับไข้หวัดธรรมดาที่มักจะค่อยๆ แสดงอาการขึ้นมาทีละนิด ซึ่งผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่จะมีไข้สูงราว 39-40 องศาเซลเซียส ติดต่อกันนาน 3-4 วันขึ้นไป มีอาการหนาวสั่น ปวดเมื่อยตามตัว อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร และอาจเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนอย่างปอดอักเสบหรือสมองอักเสบด้วย
เช่นเดียวกับไข้หวัดทั่วไป โรคไข้หวัดใหญ่สามารถติดต่อได้ผ่านการหายใจเอาละอองน้ำมูก น้ำลาย และเสมหะของผู้ป่วยเข้าไป รวมถึงถ้าหากผู้ป่วยเอามือเช็ดน้ำมูกแล้วไปสัมผัสสิ่งของ อย่าง แก้วน้ำ หรือลูกบิดประตู แล้วเราไปสัมผัสสิ่งของนั้นต่อ และเอามือมาขยี้ตาหรือแคะจมูก เราก็สามารถติดเชื้อตามไปด้วย ดังนั้นแพทย์จึงต้องห้ามไม่ให้คนใกล้ชิดใช้สิ่งของร่วมกับผู้ป่วย
แต่คำถามถัดมาคือ แล้วเรารอดพ้นภาวะโรคระบาดนั้นมาได้ยังไง? คำตอบก็คือ ในตอนนั้นได้มีการเร่งแก้ไขสถานการณ์ของรัฐบาลสยาม โดยการส่งแพทย์ออกไปรักษาผู้ป่วยทั่วทุกมณฑล ทำให้ในที่สุดประเทศสยามก็สามารถผ่านพ้นวิกฤตโรคระบายนี้มาจนได้
นอกจากนี้ประเทศไทยเรายังเคยผ่านวิกฤตโรคระบาดอื่นๆ อาทิเช่น กาฬโรคหรือโรคห่า ในปี พ.ศ.1800 วัณโรค ในปี พ.ศ.2463 และโรคซาร์ (SARS) ในปีพ.ศ. 2545 เป็นต้น ซึ่งการที่เราจะสามารถก้าวผ่านภาวะโรคระบาดนี้ไปให้ได้อีกครั้งจำเป็นต้องได้รับความช่วยมือจากหลายส่วน รวมถึงตัวคุณเองด้วย
คุณสามารถทำได้โดยการงดเดินทางออกจากบ้าน เว้นระยะห่างกับผู้อื่นอย่างน้อย 2.5 เมตร รับประทานอาหารแยกจานกัน ถ้าต้องใช้ห้องน้ำร่วมกันก็ควรหมั่นทำความสะอาดบ่อยๆ ใส่หน้ากากอนามัย และล้างมืออย่างสม่ำเสมอ สุดท้ายนี้ก็ขอให้เราทุกคนสามารถรอดผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปได้ด้วยกัน และถ้าหากใครชื่นชอบบทความสาระดีดีอย่างนี้ ก็อย่าลืมกดติดตามช่องและกดกระดิ่งแจ้งเตือนช่อง eduHUB ไว้ เพื่อจะได้ไม่พลาดคลิปใหม่ๆ ของพวกเราด้วยนะคะ ขอบคุณค่ะ