จักรวาลนั้นกว้างใหญ่ เกินกว่าที่มนุษย์ตัวจิ๋วจะจินตนาการถึง นับตั้งแต่อดีต ในยุคสมัยที่มนุษย์เริ่มสร้างทฤษฎีต่าง ๆ เกี่ยวกับดวงดาวนอกโลกขึ้นมา สิ่งที่อยู่ในความสนใจของมนุษย์คงหนีไม่พ้น การตามหาอารยธรรมต่างดาว หรือที่เรียกกันติดหูว่า มนุษย์ต่างดาว นั่นเอง มนุษย์สนใจเรื่องของการดำรงชีวิตในต่างดาว รวมถึงพยายามศึกษาวิธีที่จะทำให้สามารถขยายอาณานิคมของ “มนุษย์” ให้กว้างขวางออกไปยังดาวดวงอื่น ๆ ได้อีก
.
เป็นเวลาหลายทศวรรษ กับการพัฒนาเทคโนโลยีควบคู่กับการค้นหาดวงดาวต่าง ๆ ที่มีมากมายนับแสนนับล้านในจักรวาลนี้ เพื่อค้นหาดวงดาวที่มีลักษณะ “คล้ายกับโลก” เพื่อที่ว่า ในอนาคตเมื่อเทคโนโลยีสามารถพัฒนาก้าวข้ามขีดจำกัดต่าง ๆ ได้ มนุษย์จะสามารถย้ายไปอาศัยอยู่บนดาวดวงอื่นได้จริง ๆ เสียที
.
เมื่อวันที่ 7 มกราคม ที่ผ่านมา นาซาได้เผยชื่อของดาวเคราะห์ดวงใหม่ที่มีลักษณะคล้ายโลก ชื่อว่า “TOI 700 d” จัดอยู่ในโซนอาศัยได้ ห่างจากโลกของเราเป็นระยะทาง 100 ปีแสง ซึ่งองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ หรือ NASA นั้น ได้เปิดเผยการค้นพบครั้งล่าสุดนี้เกี่ยวกับดาวเคราะห์ดวงใหม่ที่ชื่อว่า “TOI 700 d” โดยดาวเคราะห์ดวงนี้มีลักษณะพิเศษอย่างมากตรงที่มีขนาดของดาวเทียบเท่ากับโลก รวมถึงมีวิถีโคจรอยู่ในบริเวณ Habitable zone (แฮบบิเทเบิล โซน) หรือเขตอาศัยได้
.
การเปิดเผยครั้งนี้มีขึ้นโดยศูนย์วิจัยและปฏิบัติการแรงขับเคลื่อนไอพ่น หรือ JPL ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ได้รับเงินสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกา ภายใต้สังกัดของ NASA ในระหว่างการประชุมของสมาคมดาราศาสตร์อเมริกันในโฮโนลูลู รัฐฮาวาย การค้นพบครั้งนี้เป็นผลงานของทีมนักวิจัยในโครงการ TESS (Transiting Exoplanet Survey Satellite) (ทรานไซท์ติ้ง เอ็กโซแพลเน็ต เซอร์เวย์ แซทเทลไลท์) ซึ่งเป็นดาวเทียมภายใต้โครงการ สำรวจดาวเคราะห์ชั้นนอกระบบสุริยะของ NASA
.
โดยรายงานระบุว่า ก่อนหน้านี้ทีมวิจัยของ TESS ได้ใช้วิธีการค้นหาและจำแนกดาวอื่นที่ไม่ใช่ดาวเคราะห์มีขนาดใหญ่และมีอุณหภูมิพื้นผิวร้อน แต่ทว่านักดาราศาสตร์สมัครเล่นบางส่วนของทีม TESS พบข้อผิดพลาดบางอย่าง Emily Gilbert (เอมิลี่ กิลเบิร์ท) หนึ่งในนักวิจัยในโครงการนี้เผยว่า ทีมได้แก้ไขขนาดพารามิเตอร์ของดาว ด้วยการลดขนาดดาวเคราะห์ที่จะค้นหาลง กระทั่งพบกับดาวเคราะห์ดวงหนึ่งโคจรอยู่ชั้นนอกของกลุ่มดาว Dorado constellation (โดราโด คอนสเตลเลชั่น) หรือมีชื่อในภาษาไทยว่า กลุ่มดาวปลากระโทงแทง ซึ่งอยู่ห่างจากระบบสุริยะของโลกไปประมาณ 101.4 ปีแสง รวมถึงมันยังมีวิถีโคจรใกล้ดาวฤกษ์ดวงหนึ่งในกลุ่มดาวดังกล่าว ซึ่งมีชื่อว่า TOI 700
.
การค้นพบนี้นับเป็นการค้นพบดาวเคราะห์ที่สามารถอาศัยได้เป็นครั้งแรกของโครงการ TESS ซึ่งภายหลังได้รับการยืนยันโดยกล้องโทรทัศน์อวกาศสปิตเซอร์ นอกจากนี้ TESS ยังค้นพบดาวเคราะห์ใกล้เคียงอีกสามดวงในวงโคจรเดียวกันที่ชื่อว่า TOI 700 b TOI 700 c และ TOI 700 d ซึ่งมีเพียงดาวเคราะห์ d เท่านั้นที่อยู่ในระยะวงโคจรฮาบิเทเบิล หรือ Habitable zone ซึ่งระยะโคจรนี้เป็นจุดที่ดาวเคราะห์จะอยู่ห่างจากดาวฤกษ์พอดี อำนวยให้สามารถกำเนิดสิ่งมีชีวิตได้ ถ้าอยู่ใกล้ดาวฤกษ์มากจะร้อนไป อยู่ห่างมากก็จะหนาวเย็นเกินไป อย่างเช่นในระบบสุริยะของเรา วงโคจรรฮาบิเทเบิลอยู่ในเขตดาวศุกร์ไปจนถึงดาวอังคาร หมายความว่าวีถีโคจรของมันไม่ไกล และก็ไม่ไกลจากดาวฤกษ์จนเกินไป ซึ่งเหมาะแก่การดำรงของสิ่งมีชีวิต
.
นอกจากนี้ ดาวฤกษ์ที่ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางระบบ ควรจะเป็นดาวฤกษ์ประเภท G (แคระเหลือง) หรือแย่หน่อยก็ควรไม่เกินขอบเขต F ไปถึง K ซึ่งดาวฤกษ์ในกลุ่มนี้จะมีอุณหภูมิที่ผิวดาวช่วง 5,000-6,000 เคลวิน และมีอายุดาวในช่วง 3,000-6,000 ล้านปี คล้ายระบบสุริยะของเรา ที่ดวงอาทิตย์เป็นดาวฤกษ์ประเภท G มีอายุ 4,600 ล้านปี หากเป็นดาวฤกษ์ประเภทอื่น อุณหภูมิที่ผิวดาวระร้อนเกินหรือเย็นเกิน อายุสั้นหรือแก่เกินไป ขนาดใหญ่ไปไม่ก็เล็กไป สว่างเกินไป หรือสลัวเกินไป ไม่เหมาะสม
.
ดาว “TOI 700 d” จัดเป็นดาวเคราะห์แคระชั้น M มีขนาดใหญ่กว่าโลกเล็กน้อยราว 20% หรือ 2.6 เท่า พื้นที่กว่า 86% ของดาวได้รับพลังงานจากดาวอาทิตย์ซึ่งเป็นดาวฤกษ์ใกล้เคียง และใช้เวลาโคจรรอบดาวฤกษ์ราว 37 วัน
.
นอกจากนี้ NASA ยังได้ใช้แบบจำลองเพื่อประเมินดาวดวงนี้ โดยคาดว่าพื้นที่ส่วนใหญ่ถูกปกคลุมด้วยมหาสมุทร มีลักษณะชั้นบรรยากาศหนาแน่น พบค่าคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งเหมาะสมแก่การเกิดสิ่งมีชีวิต การค้นพบครั้งนี้ ถือเป็นการค้นพบดาวเคราะห์ดวงใหม่ที่สำคัญ เนื่องจากมันอยู่ในระยะไม่ไกลมากจากโลก แถมอยู่ในโซนอาศัยได้ซึ่งถือเป็นดาวตัวเลือกที่ดีที่นักวิทยาศาสตร์สามารถติดตามพฤติกรรมของดาวได้ในอนาคต
.
ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ข่าวการพบดาวเคราะห์ที่มีลักษณะคล้ายโลกนั้นมีออกมาค่อนข้างบ่อยในทศวรรษที่ผ่านมา และดูเหมือนจะมีมากขึ้นเรื่อย ๆ ปัญหาก็คือ เทคโนโลยีของมนุษย์ที่ยังไม่สามารถเดินทางไปถึงดินแดนเหล่านั้นได้ ก็คงต้องรอให้เทคโนโลยีได้พัฒนากันไปมากกว่านี้ เเล้วเราคงจะได้เดินทางไปดูถึงดาวที่ค้นพบเลยจริงๆ เสียที ท่านผู้ชมล่ะครับ คิดว่าดวงดาวเหล่านั้นสามารถอาศัยอยู่ได้จริงหรือไม่ แล้วเราจะต้องใช้เวลาอีกกี่ปี