หรือว่าดวงจันทร์จะเคยเป็นส่วนหนึ่งของโลก!?

เมื่อท่านผู้ชมมองขึ้นไปบนท้องฟ้า เห็นดวงจันทร์กลมโตลอยเด่น ท่านผู้ชมเคยนึกสงสัยกันบ้างมั้ยคะว่า ดวงจันทร์สีเหลืองนวลดวงนี้เกิดขึ้นมาได้อย่างไร จากสมมติฐานการกำเนิดของดวงดาว บ้างก็ว่าเกิดจากการรวมตัวกันของฝุ่นและแก๊ส ค่อยๆ จับตัวกันเป็นก้อนและมีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นดวงดาวแบบที่เราเห็นกันอยู่ทุกวันนี้ แต่บ้างก็ว่าดวงดาวเกิดจากการพุ่งชนกันของดาวเคราะห์ แรงกระแทกทำให้ชิ้นส่วนของดวงดาวหลุดออกและก่อกำเนิดเป็นดาวดวงใหม่ขึ้น 

แนวคิดที่ใกล้เคียงกันนี้ถูกนำไปใช้อธิบายการกำเนิดของดวงจันทร์ด้วย และดวงดาวที่เป็นต้นกำเนิดของดวงจันทร์ก็ไม่ใช่ดวงดาวห่างไกลที่ไหน แต่เป็นโลกสีฟ้าของเรานี่เอง!?

โลก
ขอขอบคุณภาพประกอบจากเว็บไซต์ newsbomb.com.cy

แนวคิดที่ว่า “ดวงจันทร์อาจเคยเป็นส่วนหนึ่งของโลก” ถูกคิดค้นขึ้นครั้งแรกในปี 1898 โดย จอร์จ ดาร์วิน (George Darwin) ทนายความและนักดาราศาสตร์ชาวอังกฤษ ต่อมาในช่วงประมาณปี 1970 แนวคิดนี้ก็ถูกหยิบยกขึ้นมาอีกครั้งและนำมาพัฒนาสู่ “สมมติฐานเรื่องการชนครั้งใหญ่” (Giant impact hypothesis) ที่ได้รับการเชื่อถืออย่างกว้างขวาง

สมมติฐานนี้กล่าวว่า เมื่อประมาณ 4.5 พันล้านปีที่แล้ว มีวัตถุบางอย่างที่ขนาดใกล้เคียงกับดาวอังคารพุ่งเข้ามาชนโลกของเราอย่างรุนแรง ผลจากแรงกระแทกทำให้ชิ้นส่วนของโลกแตกออก กลายเป็นดวงจันทร์อย่างที่เราเห็นอยู่ทุกวันนี้ อีกทั้งองค์ประกอบจากวัตถุที่มาชนนั้นยังอาจมีส่วนช่วยให้เกิดสิ่งมีชีวิตบนโลกของเราด้วย! ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ก็คาดว่าวัตถุดังกล่าวน่าจะเป็นดาวเคราะห์ที่มีชื่อว่า “ธีอา” (Theia) นั่นเอง

ธีอา
ขอขอบคุณภาพประกอบจากเว็บไซต์ freenews.live

หลังจากสมมติฐานนี้ถูกเผยแพร่ออกไป มันก็ได้ถูกพูดถึงอย่างมากตลอดระยะเวลา 50 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากเคยมีนักวิทยาศาสตร์หลายคนลองคำนวนระยะทางด้วยกฏของนิวตันดูว่า ถ้าหากโลกโดนอะไรบางอย่างพุ่งชนจนแตกออกและกลายเป็นดวงจันทร์จริง ชิ้นส่วนที่ว่านี้จะต้องกระเด็นออกห่างไปจากโลกเท่าไหร่ ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ก็ตรงกับระยะทางจากโลกไปดวงจันทร์พอดิบพอดี!

นอกจากนี้ตอนที่นาซาส่งนักบินอวกาศขึ้นไปเหยียบพื้นผิวดวงจันทร์ในภารกิจยานอพอลโล นักบินอวกาศก็ได้เก็บตัวอย่างดินบนดวงจันทร์กลับมาด้วย และเมื่อตรวจสอบดูก็พบว่าดินบนดวงจันทร์นั้นแทบไม่ต่างอะไรจากดินบนโลกของเราเลย จึงเป็นไปได้ว่าดวงจันทร์เองอาจเคยเป็นส่วนหนึ่งของโลกมาก่อนก็ได้! 

ธีอา
ขอขอบคุณภาพประกอบจากเว็บไซต์ everythingselectric.com

แต่ถึงแม้สมมติฐานนี้จะมีนักวิทยาศาสตร์เชื่อถือและให้การสนับสนุนอยู่หลายคน แต่หลักฐานที่นำมาใช้รองรับกลับน้อยมาก มันจึงยังคงเป็นแค่สมมติฐาน ไม่ใช่ทฤษฎีจริงมาจนถึงทุกวันนี้ แถมยังมีนักวิทยาศาสตร์อีกหลายคนที่คัดค้านแนวคิดนี้ด้วย โดยคนที่ค้านตั้งคำถามว่า ถ้าหากโลกเคยโดนชนจริง แล้วตอนนี้ดาวธีอามันหายไปไหนแล้วล่ะ? 

ยิ่งไปกว่านั้น ดาวธีอายังถือเป็นดาวเคราะห์นอกระบบ ถ้าหากโลกถูกดาวธีอาชนแล้วก่อกำเนิดเป็นดวงจันทร์จริง องค์ประกอบของดาวธีอาก็น่าจะไปติดอยู่บนดวงจันทร์สัก 70-90 เปอร์เซ็นต์สิ แต่จากตัวอย่างไอโซโทปของออกซิเจนที่พบบนดวงจันทร์แล้ว มันกลับมีอัตราส่วนเหมือนกับโลกเกือบทั้งหมด ดังนั้นสมมติฐานนี้จึงถือว่าเป็นไปไม่ได้

ธีอา
ขอขอบคุณภาพประกอบจากเว็บไซต์ spec-evo.fandom.com

แต่หลังจากโดนค้านไป ฝ่ายสนับสนุนก็ให้คำตอบกลับมาว่า เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะดาวธีอามีองค์ประกอบเหมือนโลกของเราไง ดาวดวงนี้เกิดจากส่วนประกอบพื้นฐานเดียวกับโลก เราจึงคิดว่าไอโซโทปที่เราวัดได้มันเป็นของโลก แต่จริงๆ ส่วนหนึ่งมันเป็นของดาวธีอาต่างหาก!

แน่นอนว่าฝั่งที่คัดค้านก็ไม่เชื่อคำตอบนี้ เพราะโอกาสที่ดาวธีอาจะมีองค์ประกอบคล้ายโลกนั้นมีอยู่น้อยมาก ด้วยเหตุนี้เหล่านักวิทยาศาสตร์ฝั่งสนับสนุนจึงต้องหาเหตุผลอื่นมารองรับ ซึ่งก็แบ่งออกเป็นแนวคิดต่างๆ มากมาย บางแนวคิดก็บอกว่าหลังจากดาวธีอาพุ่งชนโลก ดาวทั้งสองก็แตกละเอียดกลายเป็นเม็ดฝุ่น พอเวลาผ่านไป ฝุ่นเหล่านั้นจึงได้จับตัวกันเป็นโลกกับดวงจันทร์ในที่สุด ดาวธีอาก็เลยหายไป และดวงจันทร์เลยมีองค์ประกอบคล้ายโลก บางแนวคิดก็บอกว่าดาวธีอาเกิดมาในบริเวณที่ใกล้กับโลกของเรามาก องค์ประกอบทุกอย่างเลยคล้ายคลึงกับโลก 

ธีอา
ขอขอบคุณภาพประกอบจากเว็บไซต์ aetos-apokalypsis.com

แต่ไม่ว่าจะเป็นแนวคิดไหน ก็ยังไม่ค่อยมีอันที่ฟังขึ้นสักเท่าไหร่ จนกระทั่ง อีริค คาโน (Erick Cano) ได้นำเสนอทฤษฎีใหม่ที่แตกต่างออกไปจากเดิม โดยเริ่มจากการรวบรวมตัวอย่างหินไทเทเนียมบะซอลต์ที่ได้จากดินบนดวงจันทร์ในความลึกที่ต่างกันออกไป ก่อนจะนำหินเหล่านั้นมาหาค่าไอโซโทปที่เป็นตัวบ่งชี้การกำเนิดของดวงดาว และผลที่ได้คือหินบนดวงจันทร์ในแต่ละชั้นมีสัดส่วนไอโซโทปออกซิเจนไม่เท่ากัน ยิ่งหินอยู่ลึกลงไปเท่าไหร่ สัดส่วนไอโซโทปก็ยิ่งมากขึ้นเท่านั้น 

นั่นหมายความว่าบางทีดาวธีอาอาจไม่ได้หายไปไหน แต่ฝังอยู่ในดวงจันทร์ของเรานี่เอง! อีริคคาดว่าบางทีการชนครั้งนั้นทำให้โลกของเราแตกออกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย และชิ้นส่วนฝุ่นผงเหล่านั้นก็มารวมตัวกันห่อหุ้มดาวธีอาไว้ จนเกิดเป็นดวงจันทร์ขึ้นมา ทำให้ไม่มีใครหาดาวธีอาเจอจนถึงทุกวันนี้

ธีอา
ขอขอบคุณภาพประกอบจากเว็บไซต์ sudonull.com

เป็นแนวคิดที่น่าสนใจไม่น้อยเลยใช่มั้ยคะ แต่การจะยืนยันให้ได้ว่าแนวคิดนี้เป็นความจริงหรือไม่นั้น นักวิทยาศาสตร์ยังจำเป็นต้องใช้ตัวอย่างจากดวงจันทร์อีกมาก แต่ในปี 2021 เราก็กำลังจะมีโครงการอาเทมิส ที่ส่งนักบินอวกาศไปสำรวจดวงจันทร์กันอีกครั้ง ไม่แน่ว่าเมื่อนักบินอวกาศได้ตัวอย่างจากดวงจันทร์กลับมา เราอาจจะได้ค้นพบความจริงที่น่าเหลือเชื่อก็ได้ และถ้าหากใครชื่นชอบบทความสาระดีดีอย่างนี้ ก็อย่าลืมกดติดตามและกดกระดิ่งช่อง eduHUB กันด้วยนะคะ ขอบคุณค่ะ