ดาวเคราะห์น้อย ที่วงโคจรสั้นที่สุด
ดาวเคราะห์น้อยเป็นวัตถุทางดาราศาสตร์ที่มีขนาดเล็กกว่าดาวเคราะห์ แต่ใหญ่กว่าสะเก็ดดาว มีลักษณะทางกายภาพที่ยังไม่ชัดเจน มีวงโคจรเป็นวงรีรอบดวงอาทิตย์อยู่ระหว่างวงโคจรของดาวอังคารกับดาวพฤหัสบดี ซึ่งถูกเรียกว่าแถบดาวเคราะห์น้อย โดยเชื่อว่าดาวเคราะห์น้อยส่วนใหญ่เป็นซากที่หลงเหลือในจานดาวเคราะห์ก่อนเกิด ซึ่งไม่สามารถรวมตัวกันเป็นดาวเคราะห์ขนาดใหญ่ได้ในระหว่างการก่อกำเนิดระบบสุริยะเนื่องจากแรงโน้มถ่วงรบกวนจากดาวพฤหัสบดี ดาวเคราะห์น้อยบางดวงมีดาวบริวารเป็นของตนเองหรือโคจรระหว่างกันเองเป็นคู่ เรียกว่า ระบบดาวเคราะห์น้อยคู่ มีการกำหนดเรียกชื่ออย่างคร่าว ๆ ตามชื่อปีที่ค้นพบ ซึ่งหากมีการพิสูจน์ถึงการมีอยู่และวงโคจรอย่างละเอียดแล้วจะได้รับการตั้งชื่อตามระบบเป็นตัวอักษรและหมายเลข โดยตั้งแต่อดีตเป็นต้นมาดาวเคราะห์น้อยส่วนใหญ่ที่ถูกค้นพบจะมีขนาดใหญ่และวงโคจรยาว แต่ในปัจจุบันในยุคที่เทคโนโลยีในโลกของเราก้าวหน้าและถูกพัฒนาออกไปไกล ทำให้นักดาราศาสตร์สามารถค้นพบดาวเคราะห์น้อยดวงอื่น ๆ ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะเป็นของตนเอง และมีวงโคจรที่อยู่นอกเหนือจากแถบดาวเคราะห์น้อย นับตั้งแต่ดาวพุธไปจนถึงดาวเนปจูน และอีกหลายร้อยดวงที่อยู่พ้นจากดาวเนปจูนออกไป
เมื่อไม่นานมานี้นักดาราศาสตร์ได้ค้นพบดาวเคราะห์น้อยผิดปกติที่มี“ ปี” สั้นที่สุดหรือที่เรียกกันอย่างง่ายว่า วงโคจรสั้นที่สุด เท่าที่นักดาราศาสตร์เคยสำรวจและรู้จักมา มันถูกขนานนามว่า 2019 แอลเอฟ 6 (2019 LF6) ซึ่งเป็นหนึ่งในดาวเคราะห์น้อย 20 ดวง ในกลุ่มดาวที่รู้จักกันในชื่อ “Atira” (อะทีร่า) ดาวเคราะห์น้อย LF6 มีวงโคจรที่เล็กกว่าวงโคจรโลก มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณหนึ่งกิโลเมตรและโคจรรอบดวงอาทิตย์ทุก ๆ 151 วัน โดยวงโคจรของดาวเคราะห์น้อยดวงนี้จะเหวี่ยงออกไปนอกวงโคจรของดาวศุกร์และบางครั้งก็เข้ามาใกล้วงโคจรของดาวพุธ
“ คุณจะไม่พบดาวเคราะห์น้อยที่มีขนาดเล็กบ่อย ๆ ในปัจจุบันนี้ ย้อนกลับไปเมื่อสามสิบปีที่แล้วผู้คนเริ่มจัดระบบการค้นหาดาวเคราะห์น้อยอย่างมีระเบียบ โดยเริ่มค้นหาดวงที่ใหญ่กว่าก่อน ซึ่งส่วนใหญ่ถูกค้นพบไปแล้ว แต่ดาวเคราะห์น้อยดวงนี้มันล้ำค่ายิ่งกว่า โดย LF6 นั้นผิดปกติอย่างมากทั้งในเรื่องของขนาดและวงโคจร ซึ่งดาวเคราะห์น้อยดวงนี้มีวงโคจรที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง ” Quanzhi Ye (ฉวนจือ เย่) นักวิชาการปริญญาเอกจาก Caltech (คาลเท็กซ์) ผู้ค้นพบ LF6 กล่าว
LF6 ถูกค้นพบโดยระบบ ZTF หรือ Zwicky Transient Facility (สะวิกกี้ ทรานเซี่ยน แฟคซิลิตี้) ซึ่งเป็นกล้องล้ำสมัยที่ถ่ายภาพท้องฟ้าของหอดูดาวพาโลมาร์ ที่คอยกวาดกล้องมองท้องฟ้าทุกคืนเพื่อค้นหาการเปลี่ยนแปลงของแสงอย่างฉับพลัน เช่น ดาวระเบิด ดาวปะทุ หรือดาวเคราะห์น้อยที่เคลื่อนผ่านเข้ามา การที่ ZTF สามารถกวาดกล้องได้เร็วมาก จึงมีข้อได้เปรียบในการค้นหาดาวเคราะห์น้อยที่มีโอกาสค้นพบยาก ๆ อย่างดาวเคราะห์น้อยในกลุ่มอะทีรานี้เป็นต้น
“ เรามีเวลาประมาณ 20 ถึง 30 นาทีก่อนพระอาทิตย์ขึ้นหรือหลังพระอาทิตย์ตกเพื่อค้นหาดาวเคราะห์น้อยเหล่านี้” เย่กล่าว
เพื่อค้นหาดาวเคราะห์น้อยในกลุ่ม Atira ทีม ZTF ได้ดำเนินการสังเกตการณ์โดยใช้ชื่อโครงการเฉพาะว่า Twilight โดยก่อนหน้าที่จะค้นพบ LF6 โครงการนี้ก็ได้ค้นพบดาวเคราะห์น้อยในกลุ่ม Atira ที่ชื่อ 2019 AQ3 โดยในขณะนั้น AQ3 ใช้เวลาโคจรรอบดวงอาทิตย์ประมาณ 165 วันเท่านั้น ซึ่งถือว่ามีปีที่สั้นที่สุดก่อนที่สุดท้ายแล้วจะเปลี่ยนมาเป็น LF6 ดาวเคราะห์น้อยในกลุ่ม Atira ขนาดใหญ่ทั้งสองที่พบโดย ZTF มีวงโคจรต่างจากระนาบสุริยวิถีเป็นอย่างมาก กล่าวคือ มีวงโคจรที่ไม่เหมือนกับระนาบวงโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ แต่เป็นการโคจรรอบนอกระบบสุริยะ นักดาราศาสตร์จึงเชื่อว่าในอดีตดาวเคราะห์น้อยสองดวงนี้ได้โคจรเข้าใกล้ดาวศุกร์หรือดาวพุธมากเกินไปจนถูกแรงดึงดูดของดาวเคราะห์เบี่ยงทิศทางออกไปจากเดิมจนมีระนาบเป็นดังปัจจุบัน
นอกเหนือจากดาวเคราะห์น้อยในกลุ่ม Atira ทั้งสองดวงนี้แล้ว ZTF ยังค้นพบดาวเคราะห์น้อยใกล้โลกอีก 100 ดวงและดาวเคราะห์น้อย 2,000 ดวงที่โคจรรอบแถบดาวหลักระหว่างดาวอังคารและดาวพฤหัสบดี
ฉวนจือ เย่หวังว่าโปรแกรม Twilight จะนำไปสู่การค้นพบดาวเคราะห์น้อยในกลุ่มของ Atira มากขึ้นและเขาก็หวังว่าจะได้รับการคัดเลือกโดย NASA ผ่านภารกิจ NEOCam ซึ่งเป็นยานอวกาศที่เสนอให้ออกแบบเพื่อค้นหาดาวเคราะห์น้อยใกล้ดวงอาทิตย์มากกว่าแต่ก่อน NEOCam มีข้อได้เปรียบสองประการ คือตำแหน่งของมันในอวกาศและความสามารถในการค้นหาดาวเคราะห์น้อยเหล่านี้ ซึ่งทำได้ง่ายกว่ากล้องโทรทรรศน์ที่มีความยาวคลื่นที่มองเห็นได้จากพื้นดิน” ในอนาคตอันใกล้นี้ไม่แน่ว่านักวิทยาศาสตร์อาจจะค้นพบดาวเคราะห์น้อยที่มีวงโคจรสั้นกว่า LF6 อีกก็เป็นได้ เพราะจักรวาลอันแสนกว้างใหญ่ไพศาลยังคงรอการค้นพบอีกมากมาย