เมื่อหลายล้านปีก่อน มนุษย์เรามีชีวิตอยู่ได้ด้วยการล่าสัตว์ เก็บผักผลไม้ที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ และใช้ชีวิตอยู่ในถ้ำ อย่างที่เราเห็นได้จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์อันเป็นภาพวาดบนฝาผนังถ้ำหรือเพิงผา มนุษย์ในยุคนั้นจะใช้วิธีขูด เซาะ เพื่อให้เกิดเป็นรูปร่างง่ายๆ ที่บอกเล่าเรื่องราวอย่างตรงไปตรงมา เช่น ภาพฝูงสัตว์ ภาพกระทิงตัวใหญ่ ภาพกลุ่มคนรวมตัวกันเพื่อล่ากวาง
เมื่อเวลาผ่านไป เทคโนโลยีเริ่มก้าวหน้าขึ้น มนุษย์เราไม่จำเป็นต้องออกไปล่าสัตว์หรือรอเก็บผลไม้ข้างทางกินอีกต่อไปแล้ว เพราะพวกเราสามารถปลูกผักและเลี้ยงสัตว์เองได้ ส่วนคนที่ทำไม่เป็นก็มีซุปเปอร์มาร์เก็ตไว้ให้เลือกจับจ่ายใช้สอย ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์เราดีขึ้น เราได้ย้ายออกมาจากถ้ำ มาสร้างบ้านที่สวยงามและมั่นคงแข็งแรง มีห้องหับแบ่งแยกเป็นสัดส่วน
แต่เมื่อความเจริญรุดหน้าเร็วจนเกินไป ทำให้มนุษย์หลงลืมที่จะดูแลธรรมชาติ มนุษย์จึงได้สร้างขยะและมลภาวะในปริมาณที่มากเกินกว่าโลกเราจะทนรับไหว ครั้นโลกของเรากำลังจะพัง มนุษย์เราเลยพยายามจะย้ายขึ้นไปอยู่บนดาวดวงอื่นแทน ซึ่งที่ผ่านมา พวกเรา eduHUB ก็ได้เคยนำเสนอเรื่องการสร้างบ้านจากเชื้อราไปแล้ว เนื่องจากเส้นใยของเชื้อรามีความทนทานสูง สามารถกันรังสีความร้อนในอวกาศได้ แถมยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วย แต่มันจะดีกว่ามั้ยถ้าเราสามารถใช้สิ่งที่มีอยู่บนดาวอังคารในการสร้างที่อยู่อาศัยแทน อย่างเช่น ถ้ำในบนดาวอังคารที่องค์การนาซาเพิ่งค้นพบล่าสุดนี้
วันที่ 4 มีนาคม 2020 องค์กรนาซาได้เปิดเผยภาพหลุมปริศนาบนดาวอังคารออกมาให้เราทุกคนได้ดูกัน ภาพถ่ายนี้ถูกถ่ายโดยดาวเทียมมาร์ส รีคอนเนสเซนซ์ ออร์บิเตอร์ (Mars Reconnaissance Orbiter) ในปี 2011 หลังจากศึกษาดูแล้ว นักวิทยาศาสตร์ก็พบว่าหลุมดังกล่าวนี้คือ หนึ่งในหลุมภูเขาไฟที่ใหญ่ที่สุดบนดาวอังคาร! มันตั้งอยู่ด้านข้างพาโวนิส มอนส์ (Pavonis Mons) ซึ่งเป็นภูเขาไฟที่อยู่ใกล้กับเส้นศูนย์สูตรของดาวเคราะห์สีแดงนี้ โดยภูเขาไฟมีความสูงถึง 14 กิโลเมตร หรือสูงกว่าภูเขาเอเวอร์เรสเสียอีก!
นอกจากนี้ปากปล่องของภูเขาไฟยังกว้างถึง 35 เมตร ฟุต และมีอุโมงค์ซ่อนอยู่ด้านล่างยาวประมาณ 20 เมตร นักวิทยาศาสตร์ของนาซ่าคาดว่าอุโมงค์ดังกล่าวนี้น่าจะเคยเป็นช่องเก็บลาวามาก่อน เมื่อลาวาไหลอยู่ใต้พื้นรอบภูเขาไฟ มันจะเผาไหม้ดินโดยรอบและสร้างเปลือกหุ้มแข็งๆ ขึ้น ซึ่งโครงสร้างนี้จะช่วยรองรับน้ำหนักถ้ำและป้องกันไม่ให้มันถล่มลงมา เช่นเดียวกับพาโวนิส มอนส์ที่เป็นภูเขาไฟรูปโล่ อันเกิดจากการก่อตัวเป็นชั้นของลาวาเย็นที่ซ้อนทับกัน ทำให้ความสูงของภูเขาไฟเพิ่มขึ้นและมีโอกาสเกิดอุโมงค์ลาวาใหม่เพิ่มขึ้นได้อีกด้วย
ยิ่งไปกว่านั้น นาซายังได้ระบุในรายงานการค้นพบเพิ่มเติมอีกว่า “นี่เป็นถ้ำที่น่าสนใจมาก เพราะภายในถ้ำนี้ได้รับการปกป้องจากสภาพแวดล้อมที่ค่อนข้างรุนแรงของดาวอังคาร อย่างรังสีคอสมิคและก้อนอุกกาบาตขนาดเล็ก ดังนั้นมันจึงเป็นตัวเลือกที่ดีมากถ้าเราจะขึ้นไปใช้ชีวิตกันที่นั่น”
แต่เมื่อพูดถึงถ้ำและอุโมงค์ลาวา อันที่จริงแล้วบนโลกเราเองก็มีสิ่งที่ใกล้เคียงกันนี้เหมือนกัน ตามรายงานของนิตยสาร Newsweek เราสามารถพบอุโมงค์ถ้ำขนาดใหญ่ที่เกิดจากลาวาได้ในหลายประเทศทั่วโลก เช่น ฮาวาย สเปน ไอซ์แลนด์ และหมู่เกาะกาลาปากอส แต่นอกจากถ้ำที่เกิดจากลาวาแล้ว โลกเราก็มีถ้ำที่เกิดจากน้ำด้วย โดยน้ำจะค่อยๆ กัดเซาะพื้นหินออกจนเกิดเป็นโพรงขนาดใหญ่ แต่เนื่องจากดาวอังคารไม่มีแหล่งน้ำเหมือนโลกเรา จึงคาดว่าลาวาน่าจะเป็นปัจจัยหลักที่ก่อให้เกิดถ้ำแบบนี้
อีกทั้งอุโมงค์ลาวาบนโลกยังมีแนวโน้มที่จะขนาดเล็กกว่าบนดาวอังคาร โดยมีความยาวเฉลี่ยแค่ประมาณ 29.8 เมตร เพราะผลกระทบจากแรงโน้มถ่วง ทำให้เมื่ออุโมงค์กว้างขึ้น น้ำหนักก็มากขึ้น เพดานอุโมงค์จึงมีโอกาสถล่มลงมาสูง แต่เนื่องจากบนดาวอังคารมีแรงโน้มถ่วงต่ำกว่ามาก ถ้ำบนดาวอังคารจึงสามารถขยายตัวได้ยาวถึง 274.3 เมตรโดยไม่ยุบตัว ด้วยเหตุนี้อุโมงค์ลาวาจึงกลายเป็นเป้าหมายต่อไปในการสำรวจทางอวกาศ เพื่อศึกษาว่าเราจะใช้มันสำหรับตั้งถิ่นฐานในอนาคตได้หรือไม่ โดยนาซ่าก็ได้มีแผนส่งนักบินอวกาศไปสำรวจในปี 2030 นี้ด้วย
ถ้ำบนดาวอังคารนี้ฟังดูเหมาะจะเป็นที่อยู่อาศัยถัดไปของมนุษย์เราไม่น้อยเลยใช่มั้ยคะ เพราะทั้งกว้าง แข็งแรง แถมยังสามารถปกป้องเราจากรังสีต่างๆ ในอวกาศได้ด้วย ไม่แน่ว่าในอนาคตเราอาจจะต้องย้ายกลับเข้าไปอยู่ในถ้ำกันก็ได้ และถ้าหากใครชื่นชอบบทความสาระดีดีอย่างนี้ ก็อย่าลืมกดติดตามและกดกระดิ่งช่อง eduHUB กันด้วยนะคะ