กาแล็กซีทางช้างเผือกบิดเบี้ยว

กาแล็กซีทางช้างเผือก

ในเอกภพของเรามีกาแล็กซีต่างๆ มากมาย ซึ่งกาแล็กซี (Galaxy) ในที่นี้ก็หมายถึง กลุ่มดาวฤกษ์ขนาดใหญ่ ประกอบด้วยดวงดาว แก๊ส ฝุ่น และสสารมืด องค์ประกอบเหล่านี้ถูกแรงโน้มถ่วงยึดเอาไว้ด้วยกันจึงก่อให้เกิดเป็นกาแล็กซีขึ้น โดยแต่ละกาแล็กซีก็จะมีขนาดแตกต่างกันออกไป แต่ส่วนใหญ่แล้วจะกว้างประมาณ 100,000 – 200,000 ปีแสง และมีดาวฤกษ์อยู่ในนั้นได้ตั้งแต่สิบล้านดวงถึงกว่าล้านล้านดวง โคจรรอบจุดศูนย์กลางเดียวกันด้วย

ในเมื่อเอกภพของเรามีกาแล็กซีอยู่มากมาย เพื่อไม่ให้เป็นการสับสน เราจึงได้ตั้งชื่อกาแล็กซีแต่ละแห่ง และกาแล็กซีที่มีดวงอาทิตย์เป็นศููนย์กลางนี้ก็มีชื่อในภาษาอังกฤษว่า “Milky Way” เนื่องจากคำว่า “Galaxias” ในภาษากรีกแปลว่า “น้ำนม” ชาวต่างชาติจึงเรียกกาแล็กซีของเราว่า “Milky Way” หรือเส้นทางน้ำนมนั่นเอง ในขณะที่ภาษาไทยเราจะเรียกกาแล็กซีนี้ว่า “ทางช้างเผือก” เนื่องจากบ้านเมืองเรามีความผูกพันกับช้าง และมองว่าช้างเผือกเป็นตัวแทนของสิ่งของสูงค่า ดังนั้นเราจึงตั้งชื่อให้กาแล็กซีนี้ว่า “ทางช้างเผือก” เพื่อความเป็นสิริมงคล ทว่าไม่กี่ปีมานี้ เหล่านักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบว่ากาแล็กซีทางช้างเผือกของเรากำลังโคลงเคลง!?

Milky Way
ภาพกาแล็กซีทางช้างเผือกกำลังสั่น – ขอขอบคุณภาพประกอบจากเว็บไซต์ bbc.com

เรื่องมันเริ่มต้นขึ้นเมื่อ ดร.เทเรซา อันโตฮา (Teresa Antoja) หัวหน้าทีมวิจัย จากมหาวิทยาลัยบาร์เซโลนา ในแคว้นกาตาลุญญา ประเทศสเปน ได้นำข้อมูลของตำแหน่งของดวงดาวจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศกายอา (Gaia) มาตรวจสอบดูในเดือนกันยายน ปี 2018 เธอได้อัพโหลดข้อมูลทั้งหมดลงในคอมพิวเตอร์ เพื่อเปรียบเทียบความเร็วของดวงดาวให้แม่นยำมากยิ่งขึ้น 

แต่แล้วดร.เทเรซาก็พบว่า เส้นกราฟการเคลื่อนไหวของดวงดาวมันวนเป็นรูปทรงแปลกประหลาดคล้ายกับรูปก้นหอย หรือก็คือตอนนี้ดวงดาวกว่า 1 พันล้านดวงในกาแล็กซีทางช้างเผือกของเรากำลังเคลื่อนไหวขึ้นลงเหมือนกับระลอกคลื่น เวลามีคนโยนหินลงไปในบ่อน้ำนิ่ง

ดร.เทเรซา อันโตฮา
ภาพ ดร.เทเรซา อันโตฮา – ขอขอบคุณภาพประกอบจากเว็บไซต์ cosmos.esa.int

ศาสตราจารย์ อามีนา เฮลมี (Amina Helmi) สมาชิกทีมวิจัย จากมหาวิทยาลัยโกรนินเงิน (University of Groningen) ประเทศเนเธอร์แลนด์ กล่าวเสริมว่า ปรากฏการณ์นี้น่าจะเป็นร่องรอยจากเหตุการณ์ในอดีต อย่างเช่นมีวัตถุอวกาศพุ่งเข้ามาเฉียดกาแล็กซีของเรา ถึงแม้ว่าวัตถุอวกาศนั้นจะไม่ได้ชนเข้ากับดวงดาวของเราเข้าจังๆ แต่ด้วยแรงโน้มถ่วงของวัตถุอวกาศนั้น ก็อาจทำให้การเคลื่อนตัวของดวงดาวในกาแล็กซีเราเริ่มปั่นป่วนได้ 

ซึ่งจากการวิเคราะห์ดู วัตถุอวกาศที่ว่านี้ก็น่าจะเป็นดาราจักรแคระซาจิตแทเรียส (Sagittarius) กาแล็กซีขนาดเล็กที่มีดาวฤกษ์อยู่เพียงไม่กี่พันล้านดวง โดยกาแล็กซีนี้ได้โคจรเข้ามาเฉียดทางช้างเผือกของเราเมื่อประมาณ 200-1,000 ล้านปีก่อน และตอนนี้ทางช้างเผือกของเราก็กำลังดูดกลืนมันเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกาแล็กซีเราอยู่

ดาราจักรแคระซาจิตแทเรียส
ภาพดาราจักรแคระซาจิตแทเรียส – ขอขอบคุณภาพประกอบจากเว็บไซต์ bbc.com

ในจุดนี้บางคนอาจจะกังวลว่าการดูดกลืนกาแล็กซีที่กำลังเกิดขึ้นจะส่งผลกระทบอย่างไรต่อโลกของเราบ้างหรือไม่ แต่อันที่จริงแล้วการรวมตัวของกาแล็กซีต่างๆ นั้นถือว่าเป็นเรื่องปกติมาก และเราก็มีหลักฐานงานวิจัยอยู่หลายชิ้นที่ชี้ว่าในอดีตกาแล็กซีทางช้างเผือกของเราก็เคยรวมตัวกับกาแล็กซีบริวารอันอื่นอยู่หลายครั้ง และในแต่ละครั้งก็ใช้เวลานานหลายล้านปีกว่าจะดูดกลืนกาแล็กซีเหล่านั้นสำเร็จ

แต่ถึงกระนั้น การคาดการณ์ที่ว่ากาแล็กซีทางช้างเผือกของเราสั่นไหวจากการเฉียดผ่านของกาแล็กซีบริวารก็เป็นเพียงแค่ข้อสันนิฐานเท่านั้น จนกระทั่งในเดือนมีนาคม ปี 2020 นักวิจัยจากสถาบันฟิสิกส์ดาราศาสตร์แห่งชาติอิตาลี (INAF) ก็ได้ออกมายืนยันแล้วว่า การสันนิฐานน่าจะเป็นความจริง! 

กาแล็กซีทางช้างเผือกดูดกลืนดาราจักรแคระ
ภาพกาแล็กซีทางช้างเผือกดูดกลืนดาราจักรแคระ – ขอขอบคุณภาพประกอบจากเว็บไซต์ bbc.com

โดยผลงานวิจัยนี้ได้ตีพิมพ์ลงใน Nature Astronomy วารสารที่รวบรวมงานวิจัยเกี่ยวกับดาราศาสตร์ธรรมชาติ ว่าส่วนที่บิดเบี้ยวและสั่นไหวในกาแล็กซีทางช้างเผือกเราส่วนใหญ่เป็นกลุ่มก๊าซไฮโดรเจนและดาวฤกษ์ ซึ่งดาวฤกษ์ที่อยู่ในแรงกระเพื่อมนี้จะใช้เวลาโคจรรอบกาแล็กซีนานกว่าดวงดาวปกติ อย่างดวงอาทิตย์ที่ปกติแล้วจะใช้เวลาในการโคจรรอบจุดศูนย์กลางของทางช้างเผือก 220 ล้านปี แต่สำหรับดาวฤกษ์ที่กำลังสั่นไหวอยู่นั้นจะใช้เวลานานถึง 600-700 ล้านปีเลยทีเดียว

“ถึงแม้ว่าส่วนที่บิดและโยกคลอนจะเคลื่อนตัวได้ช้ามาก แต่ก็ยังถือว่าเร็วกว่าที่ควรจะเป็น ถ้าหากแรงกระเพื่อมนี้เกิดจากสาเหตุอื่นอย่างที่เคยมีคนสันนิษฐานเอาไว้” ดร. เอลุยซา ป็อกจิโอ (Eloisa Poggio) หนึ่งในสมาชิกทีมวิจัย กล่าว โดยอ้างถึงข้อสันนิษฐานของนักดาราศาสตร์กลุ่มอื่นที่ว่า จริงๆ แล้วกาแล็กซีทางช้างเผือกอาจจะเคลื่อนตัวเพราะอิทธิพลจากสสารมืด แรงเหวี่ยงจากจุดศูนย์กลางกาแล็กซี หรือสนามแม่เหล็กระหว่างกาแล็กซีทั้งสองหรือเปล่า แต่จากการวิจัยนี้ก็ได้ชี้ให้เห็นแล้วว่า ข้อสันนิษฐานของพวกเขามันขัดแย้งกับผลการทดลองที่ออกมา

กาแล็กซีทางช้างเผือกกำลังกระเพื่อม
ภาพกาแล็กซีทางช้างเผือกกำลังกระเพื่อม – ขอขอบคุณภาพประกอบจากเว็บไซต์ astromart.com

สรุปแล้วการกระเพื่อมของกาแล็กซีทางช้างเผือกนี้ก็เกิดจากการเคลื่อนผ่านของกาแล็กซีบริวารของเรานี่เอง และถ้าหากใครชื่นชอบบทความสาระดีดีอย่างนี้ ก็อย่าลืมกดติดตามและกดกระดิ่งช่อง eduHUB กันด้วยนะคะ ขอบคุณค่ะ