พบออกซิเจนที่มนุษย์ใช้หายใจได้ในกาแล็กซี

หลายคนมักเข้าใจผิดว่าบนอวกาศไม่มีออกซิเจน

เนื่องจากเรามักจะติดภาพนักบินอวกาศที่ขนออกซิเจนจำนวนมากขึ้นไปบนยานอวกาศ เพื่อใช้เป็นทั้งเชื้อเพลิงและเอาไว้ใช้หายใจ แถมเวลาจะออกจากยานทีไร เหล่านักบินก็ต้องเปลี่ยนไปใส่ชุดอวกาศหนาๆ และแบกออกซิเจนสำรองขึ้นหลังไปด้วย 

แต่ท่านผู้ฟังรู้หรือไม่ว่า ในความเป็นจริงแล้วธาตุต่างๆ ที่เราพบเจอบนโลกก็เป็นธาตุที่เคยอยู่ในอวกาศมาแล้วทั้งนั้น นั่นหมายความว่าออกซิเจนเองก็ย่อมมีอยู่ในอวกาศเช่นเดียวกัน แต่มันจะอยู่ในรูปแบบไหน และล่าสุดมีการค้นพบที่ห่างออกไปในอีกกาแล็กซีหนึ่งเป็นครั้งแรก แถมออกซิเจนนี้ยังเป็นออกซิเจนที่มนุษย์น่าจะสามารถใช้หายใจได้อีกด้วย!!

ออกซิเจน
ขอขอบคุณภาพประกอบจากเว็บไซต์ thevintagenews.com

ออกซิเจนเป็นองค์ประกอบที่มีมากที่สุดเป็นอันดับสามของจักรวาล รองจากไฮโดรเจนและฮีเลียม ดังนั้นการศึกษาธาตุออกซิเจนที่มีอยู่มากในกลุ่มเมฆระหว่างดวงดาว (interstellar clouds) จึงมีความสำคัญอย่างมากต่อการทำความเข้าใจบทบาทของก๊าซโมเลกุล (molecular gas) ในกาแล็กซี และในกาแล็กซีอันกว้างใหญ่ที่ห่างออกไปถึงครึ่งพันล้านปีแสง ในที่สุดนักดาราศาสตร์กลุ่มหนึ่งก็ได้ตรวจพบโมเลกุลของออกซิเจนที่อยู่ด้านนอกทางช้างเผือกเป็นครั้งแรกของโลก! 

ที่ผ่านมานักดาราศาสตร์ได้พยายามค้นหาออกซิเจนมีมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง โดยการใช้วิชาดาราศาสตร์วิทยุในการตรวจจับความยาวคลื่นวิทยุที่ปล่อยออกมาจากโมเลกุล รวมถึงการใช้สเปกโทรสโกปี (spectroscopy) ซึ่งเป็นการศึกษาโดยการวิเคราะห์สเปกตรัมเพื่อค้นหาความยาวคลื่นที่ดูดซับหรือปล่อยออกมาจากโมเลกุลจำเพาะ

กลุ่มเมฆระหว่างดวงดาว
กลุ่มเมฆระหว่างดวงดาว (interstellar clouds) – ขอขอบคุณภาพประกอบจากเว็บไซต์ behance.net

แต่ยิ่งนักดาราศาสตร์พยายามค้นหามากเท่าไหร่ เรื่องของออกซิเจนในกาแล็กซีนี้ก็ยังคงดูเป็นปริศนามากขึ้นเท่านั้น เนื่องจากเหล่านักดาราศาสตร์ยังไม่สามารถมองเห็นภาพรวมของธาตุออกซิเจนในสภาพแวดล้อมระหว่างดวงดาวต่าง ๆ ได้ ทำให้เหล่านักวิทยาศาสตร์ยังคงต้องก้มหน้าก้มตาหากันต่อไป ซึ่งต่อมานักดาราศาสตร์กลุ่มหนึ่งก็ได้ค้นพบโมเลกุลของออกซิเจนในบริเวณเนบิวลานายพราน (Orion nebula) นักดาราศาสตร์ได้สมมติฐานว่า ออกซิเจนนั้นถูกผูกติดไว้กับไฮโดรเจน โดยพวกมันจะอยู่ในรูปของน้ำแข็งที่เกาะติดกับฝุ่นละอองในอวกาศ เป็นไปได้ว่าการแผ่รังสีที่รุนแรงจากดาวฤกษ์ที่มีความร้อนสูงจะไปกระทบกับน้ำแข็ง ก่อให้เกิดการระเหิด จนโมเลกุลถูกแยกออกและปลดปล่อยออกซิเจนออกมา

และการค้นพบออกซิเจนในระบบสุริยะครั้งนี้ก็ได้พาเราไปสู่การสำรวจออกซิเจนในกาแล็กซีที่ห่างไกลออกไปอีก โดยล่าสุดทีมนักดาราศาสตร์ได้พบออกซิเจนในกาแล็กซีที่มีชื่อว่า “มาร์คาเรียน 231” (Markarian 231) มันเป็นกาแล็กซีที่ตั้งอยู่ห่างออกไป 561 ล้านปีแสงและขับเคลื่อนโดย “เควซาร์” (quasar) นิวเคลียสดาราจักรกัมมันต์ (active galactic nucleus) ที่ส่องแสงสว่างจ้าที่สุดในจักรวาลและมีหลุมดำมวลมหาศาลอยู่ที่ใจกลาง 

มาร์คาเรียน 231
ภาพควซาร์ – ขอขอบคุณภาพประกอบจากเว็บไซต์ dailygalaxy.com

นักดาราศาสตร์ส่วนหนึ่งเชื่อว่าจริงๆ แล้ว มาร์คาเรียน 231 อาจมีหลุมดำมวลมหาศาลอยู่มากกว่าหนึ่งแห่ง โดยหลุมดำเหล่านั้นหมุนวนรอบกันและกันในอัตราที่รุนแรง คาดว่าการกระแทกกันอย่างรุนแรงของนิวเคลียสดาราจักรกัมมันต์ในบริเวณนี้จะทำให้โมเลกุลของออกซิเจนหลุดออกมาจากน้ำ ดังนั้นเราน่าจะตรวจพบออกซิเจนในบริเวณกาแล็กซีอันห่างไกลนี้ได้

หลังจากนั้นทีมนักดาราศาสตร์นำโดย จันชี หวอง (Junzhi Wang) จากสถาบันวิทยาศาสตร์จีน (Chinese Academy of Sciences) ได้ใช้กล้องโทรทรรศน์วิทยุอิแรม 30 ม. (IRAM 30m) ที่ประเทศสเปน ทำการสำรวจกาแล็กซีเป็นเวลาสี่วันในช่วงความยาวคลื่นจำนวนหนึ่ง และจากข้อมูลที่ได้นี้พวกเขาก็ได้พบกับเอกลักษณ์ของสเปกตรัมออกซิเจนที่สอดคล้องกับสมมติฐานอย่างน่าตกใจ

IRAM
กล้องโทรทรรศน์วิทยุ IRAM 30 ม – ขอขอบคุณภาพประกอบจาก Ewan O’Sullivan

“ด้วยการสำรวจมาร์คาเรียน 231แบบเจาะลึกโดยใช้กล้องโทรทรรศน์วิทยุ IRAM 30 ม. และเสาอากาศจากโครงการ
โนเอม่า (NOEMA – NOrthern Extended Millimeter Array) พวกเราก็ได้ตรวจพบการปล่อยโมเลกุลออกซิเจนด้านนอกทางช้างเผือกเป็นครั้งแรก” ทีมผู้วิจัยกล่าว

นอกจากนี้ทีมผู้วิจัยยังได้อธิบายเพิ่มเติมอีกว่า “การปลดปล่อยพลังงานของออกซิเจนที่เราตรวจพบได้นั้นตั้งอยู่ในบริเวณที่ห่างออกไปจากจุดศูนย์กลางของมาร์คาเรียน 231 ประมาณ 10 kpc หรือประมาณ 32,615 ปีแสง ซึ่งมันอาจเกิดจากปรากฏการณ์ร่วมระหว่างการไหลเวียนของโมเลกุลนิวเคลียสดาราจักรกัมมันต์และกลุ่มเมฆโมเลกุลที่อยู่บริเวณรอบนอก”

 มาร์คาเรียน 231
มาร์คาเรียน 231 – ขอขอบคุณภาพประกอบจากเว็บไซต์ sciencealert.com

ในการค้นพบนี้ยังเผยอีกว่า ความอุดมสมบูรณ์ของออกซิเจนในมาร์คาเรียน 231 เมื่อเปรียบเทียบกับไฮโดรเจนนั้น สูงกว่าที่พบในเนบิวลานายพรานประมาณ 100 เท่า และเพียงขอบเขตเดียวนี้ก็สามารถก่อให้เกิดดาวฤกษ์ดวงใหม่ด้วยอัตรามวลดวงอาทิตย์มากกว่า 100 ดวงต่อปี ซึ่งตรงกันข้ามกับทางช้างเผือกที่ค่อนข้างเงียบสงบ โดยมีอัตราการก่อตัวดาวฤกษ์ประมาณ 1 ถึง 2 เท่าของมวลดวงอาทิตย์เท่านั้น

แต่ถึงแม้ว่าการวิจัยนี้จะได้ผลลัพธ์ที่น่าตกตะลึง แต่เหล่านักดาราศาสตร์ก็ยังคงต้องทำการสำรวจกาแล็กซีดังกล่าวเพิ่มเติมต่อไป เพื่อยืนยันว่าผลการวิจัยนี้ถูกต้องตามที่กล่าวอ้างจริง ซึ่งทีมผู้ทำวิจัยก็ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ถ้าหากผลการวิจัยนี้ได้รับการยืนยันว่าเป็นความจริงแล้ว ปรากฏการณ์นี้สามารถช่วยให้เราเข้าใจทั้งโมเลกุลออกซิเจนในกาแล็กซีและการไหลของโมเลกุลจากนิวเคลียสดาราจักรกัมมันต์ได้อีกมากเลยทีเดียว

 เนบิวลานายพราน
เนบิวลานายพราน – ขอขอบคุณภาพประกอบจากเว็บไซต์ earthsky.org

ก็จบไปแล้วนะคะกับเรื่องออกซิเจนบนกาแล็กซี แล้วท่านผู้ฟังทุกท่านล่ะคะมีความคิดเห็นอย่างไรบ้าง ถ้าหากผลงานวิจัยนี้เป็นความจริง เราอาจสามารถหายใจบนอวกาศได้จริงๆ ก็ได้ หรือถ้าหากท่านผู้ชมมีไอเดียอะไรใหม่ๆ ว่าเราจะสามารถนำการค้นพบนี้ไปต่อยอดเรื่องอะไรได้บ้าง ก็ลองคอมเม้นต์ไอเดียของคุณเข้ามาพูดคุยกับเราได้ทางช่องคอมเม้นต์ด้านล่างนี้เลยนะคะ และถ้าหากใครชื่นชอบคลิปสาระดีดีอย่างนี้ ก็อย่าลืมกดติดตามและกดกระดิ่งช่อง eduHUB กันด้วยนะคะ