พายุสุริยะจะมาเยือนโลกทุก 25 ปี!

พายุสุริยะ (Solar storm)

เกิดจากการที่ดวงอาทิตย์ปล่อยกระแสพลังงานออกมาอย่างรุนแรง ซึ่งกระแสเหล่านี้ประกอบด้วยอนุภาคของอิเล็กตรอนและโปรตอนที่มีพลังงานสูง เมื่อพวกมันถูกพัดออกจากดวงอาทิตย์ด้วยปริมาณและความเร็วที่สูงกว่าระดับปกติ มันจะเกิดเป็นพายุสุริยะขึ้น โดยสาเหตุการเกิดของพายุสุริยะสามารถแบ่งได้เป็น 4 ประเภท ดังต่อไปนี้

1.ลมสุริยะ (solar wind)

เกิดจากการขยายตัวของโคโรนาบนดวงอาทิตย์ เมื่อโคโรนาขยายตัวจนอนุภาคหลุดพ้นจากแรงดึงดูดของดวงอาทิตย์ได้ มันก็จะกระจายตัวไปทั่วทุกทิศทุกทาง ซึ่งลมที่พัดออกจากโพรงโคโรนาบริเวณขั้วเหนือและขั้วใต้ของดวงอาทิตย์จะก่อให้เกิดลมสุริยะที่มีความเร็วสูงและรุนแรงกว่า เมื่อเทียบกับลมสุริยะที่เกิดขึ้นบริเวณแนวเส้นศูนย์สูตรของดวงอาทิตย์ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วลมสุริยะจะมีความเร็วเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 450 กิโลเมตรต่อวินาที แต่จะสามารถเร่งความเร็วขึ้นได้จนถึง 800 กิโลเมตรต่อวินาที และเมื่อลมสุริยะมีอนุภาคและความเร็วเพิ่มมากขึ้น จากลมสุริยะธรรมดาก็จะสามารถกลายเป็นพายุสุริยะได้

ลมสุริยะ

2.เปลวสุริยะ (solar flare)

เกิดจากการระเบิดอย่างรุนแรงที่ชั้นโครโมสเฟียร์ของดวงอาทิตย์ โดยส่วนใหญ่แล้วมักเกิดขึ้นเหนือรอยต่อระหว่างขั้วสนามแม่เหล็ก ซึ่งจะปล่อยพลังงานในรูปแบบของแสงและคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าออกมาอย่างรุนแรง

เปลวสุริยะ

3.การปล่อยก้อนมวลสารจากโคโรนา (Coronal mass ejection, CME)

สาเหตุที่ดวงอาทิตย์มีการปล่อยก้อนมวลสารออกมาจากส่วนโคโรนานี้ยังไม่เป็นที่แน่ชัด แต่เหล่านักวิทยาศาสตร์คาดว่า น่าจะเป็นเพราะปรากฏการณ์บางอย่างที่เกิดขึ้นในส่วนโคโรนาชั้นล่าง โดยนักวิทยาศาสตร์ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ปรากฏการณ์นี้มักเกิดขึ้นพร้อมกับเปลวสุริยะและโพรมิเนนซ์ (Prominence) อยู่บ่อยครั้ง แต่ในบางครั้งปรากฏการณ์นี้ก็อาจเกิดขึ้นได้โดยไม่ต้องจำเป็นต้องมีปรากฏการณ์ร่วมอื่นๆ เลยก็ได้

Coronal mass ejection

นุภาคพลังงานสูงจากดวงอาทิตย์ (Geomagnetic storm)

4.อ ปรากฏการณ์นี้อาจะเกิดขึ้นพร้อมกับเปลวสุริยะหรือการปลดปล่อยก้อนมวลสารจากโคโรนา โดยเมื่อโคโรนาปล่อยก้อนมวลสารออกมาด้วยความเร็วสูง มวลสารเหล่านั้นจะพุ่งแหวกไปในกระแสลมสุริยะจนเกิดเป็นคลื่นกระแทกและกลายเป็นพายุสุริยะขึ้น

และเมื่อพายุสุริยะเดินทางมาถึงโลก ผลที่จะตามมาก็คือสนามแม่เหล็กโลกจะถูกรบกวนด้วยอนุภาคประจุจากดวงอาทิตย์ ด้วยเหตุนี้พายุสุริยะจึงมีอีกชื่อนึงว่า “พายุแม่เหล็กโลก” (geomagnetic storms) และถึงแม้ว่ามันจะไม่ได้มีอันตรายต่อมนุษย์หรือสิ่งมีชีวิตบนโลกโดยตรง แต่รังสีของมันสามารถเป็นอันตรายต่อนักบินที่อยู่ในอวกาศได้ เนื่องจากรังสีและประจุไฟฟ้าอาจไปสะสมอยูู่ในร่างกายของนักบินอวกาศในระยะยาว

Coronal mass ejection

นอกจากนี้พายุสุริยะยังส่งผลให้เกิดไฟฟ้าดับ ดาวเทียมถูกรบกวนหรือทำลาย สัญญาณการบินขัดข้อง และทำให้สัญญาณ GPS และสัญญาณวิทยุสูญหายชั่วคราว เหมือนที่เคยเกิดขึ้นในเหตุการณ์คาริงทัน (Carrington Event) ในปี 1859 ซึ่งเป็นพายุสุริยะที่รุนแรงที่สุดเท่าที่มนุษยชาติเคยบันทึกเอาไว้ได้ โดยในเหตุการณ์นี้ระบบโทรเลขในส่วนต่างๆ ของโลกเกิดช็อตก่อนที่จะลุกไหม้เป็นไฟ ก่อให้เกิดความเสียหายเป็นวงกว้าง ลองคิดดูสิคะว่าในปี 1859 เราไม่ได้พึ่งพาเทคโนโลยีมากขนาดนั้น มันยังเกิดความเสียหายได้ถึงขนาดนี้ แล้วในยุคที่ทุกคนพึ่งพาอุุุปกรณ์ดิจิตอลอย่างในปัจจุบัน มันจะก่อให้เกิดความเสียหายมากขนาดไหน

ด้วยเหตุนี้เหล่านักวิทยาศาสตร์จึงสนใจที่จะศึกษาที่มาที่ไปของพายุสุริยะกันอย่างมาก โดยศาสตราจารย์ แซนดร้า แชปแมน (Sandra Chapman) ผู้เขียนนำจากศูนย์การฟิวชั่นอวกาศและฟิสิกส์ดาราศาสตร์ของมหาวิทยาลัยวอร์วิก (University of Warwick) ได้กล่าวไว้ในงานแถลงข่าวว่า “พายุสุริยะที่รุนแรงขนาดนี้เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นได้ยาก แต่การประเมินโอกาสที่มันจะเกิดขึ้นนั้นก็เป็นส่วนสำคัญในการวางแผนการรับมือ อันจะนำไปสู่การปกป้องขั้นพื้นฐานในระดับนานาชาติต่อไป”

แซนดร้า แชปแมน
ศาสตราจารย์แซนดร้า แชปแมน – ขอขอบคุณภาพประกอบจากเว็บไซต์ news.europawire.eu

นอกจากนี้ ในงานวิจัยล่าสุด นักวิทยาศาสตร์ได้มีการแบ่งพายุสุริยะออกเป็น 2 ประเภท นั่นคือ 1.พายุสุุริยะที่มีความรุนแรงต่ำ แต่ยังคงสามารถสร้างความเสียหายได้ กับ2.พายุสุุริยะที่มีความรุนแรงสูง เหมือนอย่างในเหตุการณ์คาริงทัน ซึ่งจากสถิติการเกิดพายุสุริยะในช่วง 150 ปีที่ผ่านมาชี้ให้เห็นว่า มีพายุสุริยะที่มีความรุนแรงต่ำเกิดขึ้นทั้งหมด 42 ครั้งจากระยะเวลาทั้งหมด 150 ปี นั่นหมายความว่า โลกของเราจะถูกโจมตีจากพายุสุริยะที่มีความรุนแรงต่ำโดยเฉลี่ยแล้วทุกๆ 3 ปี ในขณะที่พายุสุริยะที่มีระดับความรุนแรงสูงเคยเกิดขึ้นมาแล้วทั้งหมด 6 ครั้งในระยะเวลา 150 ปี เท่ากับว่าโลกเราจะต้องเผชิญกับพายุสุริยะระดับรุนแรงในทุก 25 ปีโดยเฉลี่ย

แต่ทั้งนี้ศาสตราจารย์ ริชาร์ด ฮอร์น (Richard Horne) ผู้นำด้านสภาพอากาศ ในการสำรวจขั้วโลกใต้ของอังกฤษ กล่าวว่า “การวิจัยนี้แสดงให้เห็นว่าพายุสุริยะครั้งใหญ่อาจเกิดขึ้นได้บ่อยกว่าที่เราคิด แต่ถึงกระนั้นก็อย่าให้ตัวเลขทางสถิติมาทำให้เราไขว้เขว เพราะจริงๆ แล้วพายุสุริยะสามารถเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ เราแค่ยังไม่รู้ว่ามันจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ แล้วก็คาดเดาล่วงหน้าไม่ได้ด้วย”

โปรเจกต์การสำรวจขั้วโลกใต้ – ขอขอบคุณภาพประกอบจากเว็บไซต์ nypost.com

แต่ถึงแม้ตอนนี้เราจะยังไม่สามารถทำนายช่วงเวลาที่จะเกิดพายุสุริยะได้อย่างแน่นอน แต่การตรวจสอบความเปลี่ยนแปลงของสนามแม่เหล็กที่ผิวโลกอย่างสม่ำเสมอก็พอจะบอกได้ว่าตอนนี้กำลังจะมีพายุุสุริยะเกิดขึ้นรึเปล่า นอกจากนี้นักวิทยาศาตร์ยังสังเกตเห็นอีกว่า พลังงานที่ดวงอาทิตย์ปล่อยออกมาในแต่ละวันตลอดหนึ่งรอบโคจรนั้นมีความเข้มข้นที่แตกต่างกัน ไม่แน่ว่าถ้าหากเราสามารถเก็บรวบรวมข้อมูลเหล่านี้ได้มากพอ สักวันหนึ่งเราอาจสามารถคาดการณ์วันและเวลาที่จะเกิดพายุสุริยะได้อย่างแม่นยำก็ได้

เป็นยังไงกันบ้างคะกับเรื่องราวของพายุสุริยะ ท่านผู้ชมคิดว่ามันน่ากลัวเหมือนกับในหนังรึเปล่า และถ้าวันนึงเราสามารถพยากรณ์เวลาเกิดพายุสุริยะได้จริง ท่านผู้ฟังคิดว่าจะมีการเตรียมตัวรับมืออย่างไรบ้าง ลองเสนอไอเดียมาคุยกันได้นะคะ และก่อนจากกันวันนี้ ก็อย่าลืมกดติดตามและกดกระดิ่งแจ้งเตือนช่อง eduHUB ไว้ เพื่อที่ทุกท่านจะได้ไม่พลาดคลิปใหม่ๆ ก่อนใครด้วยนะคะ สำหรับวันนี้พวกเรา eduHUB ก็ต้องขอลาไปก่อน แล้วเจอกันใหม่ในคลิปหน้านะคะ สวัสดีค่ะ