ร่วมรักบนอวกาศ

ร่วมรักบนอวกาศ

ในปัจจุบัน โลกเราประสบกับภาวะวิกฤตต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นโลกร้อน สภาพอากาศแปรปรวน ฝุ่นควันพิษและมลภาวะ การสูญพันธุ์ของสัตว์หลายชนิด ปัญหาพลาสติกในทะเล ปัญหาขยะล้นโลก และอื่นๆ อีกมากมาย จนตอนนี้เราไม่อาจรู้ได้เลยว่า โลกเราจะยังคงอยู่ต่อไปได้อีกนานแค่ไหน ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกที่เหล่านักวิทยาศาสตร์จะพยายามสร้างยานอวกาศและออกไปค้นหาดาวดวงอื่น เพื่อเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยต่อไปในอนาคต ซึ่งที่ผ่านมาพวกเรา eduHUB ก็เคยนำเสนอเรื่องราวความพยายามไปลงหลักปักฐานที่ดวงดาวต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการทดลองสร้างบ้านจากเชื้อรา เพื่อให้ทนต่อสภาพอากาศนอกโลกและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม, การปลูกพืชบนดาวอังคาร เพื่อเป็นแหล่งอาหารในระยะยาว, การอบคุกกี้ครั้งแรกบนอวกาศ เพื่อพิสูจน์ว่าเราไม่จำเป็นต้องกินแต่อาหารสำเร็จรูป แต่ยังสามารถทำอาหารบนอวกาศได้ 

การใช้ชีวิตบนดาวดวงอื่น
ภาพจำลองการใช้ชีวิตบนดาวดวงอื่น – ขอขอบคุณภาพประกอบจากเว็บไซต์ healththoroughfare.com

แต่นอกจากการสร้างบ้าน ปลูกพืช และทำอาหารกินแล้ว อีกสิ่งนึงที่จำเป็นต่อการดำรงเผ่าพันธุ์ของมนุษย์ไม่ว่าเราจะอยู่บนดาวดวงไหนนั่นคือ “การสืบพันธ์ุ” อาจจะฟังดูเหมือนเรื่องตลกที่เราจะไปมีความสุขกันบนอวกาศ แต่เมื่อลองคิดดูดีๆ แล้วจะพบว่า ถ้าหากมนุษย์เราไม่สามารถร่วมรักกันบนอวกาศและให้กำเนิดทายาทมาสืบทอดเผ่าพันธุ์ได้ สุดท้ายแล้วมนุษยชาติก็คงต้องสูญสิ้นกันแต่เพียงเท่านี้ ดังนั้นเหล่านักวิทยาศาสตร์จึงได้ทำการทดลองขึ้นมาว่า คนเราจะทำกิจกรรมเข้าจังหวะกันในอวกาศได้มั้ย

ถึงแม้เราจะบอกว่าการ การขยายเผ่าพันธุ์ เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับมนุษยชาติ แต่ถึงอย่างนั้นเราก็ไม่สามารถส่งนักบินขึ้นไปบนอวกาศแล้วสั่งให้เขาทำกิจกรรมกันเดี๋ยวนั้นเลยได้ เนื่องจากรังสีและอนุภาคที่อยู่นอกโลก อย่างรังสีคอสมิกที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็ง อาจเป็นอันตรายต่อตัวนักบินได้ โดยจากสถิติขององค์การอวกาศยุโรป (European Space Agency) เผยว่านักบินอวกาศมีความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายจากได้รับรังสีคอสมิกเพิ่มขึ้นถึง 30% เมื่อเทียบกับมนุษย์ทั่วไปที่ใช้ชีวิตอยู่บนโลก เนื่องจากตามปกติแล้วรังสีเหล่านี้จะถูกกรองโดยชั้นบรรยากาศของโลกให้มีความเข้มข้นน้อยลง ทำให้มนุษย์เราสามารถร่วมรักกันบนโลกได้อย่างปลอดภัย แต่เมื่อเราต้องไปร่วมรักกันนอกชั้นบรรยากาศโลก แถมยังต้องเปลื้องผ้าออก ไม่ว่าจะเป็นการถอดออกทั้งหมดหรือแค่บางส่วน แต่อวัยวะที่เปลือยเปล่านั้นก็มีโอกาสเป็นอันตรายจากการโดนรังสีสะสมได้ ดังนั้นการร่วมรักบนอวกาศจึงนับว่าเป็นภารกิจที่เสียงอันตรายอย่างยิ่ง

Passengers
ภาพจากหนังอวกาศเรื่อง Passengers – ขอขอบคุณภาพประกอบจากเว็บไซต์ express.co.uk

ด้วยเหตุนี้ ก่อนที่เราจะส่งคู่รักนักบินขึ้นไปสำเร็จกิจบนอวกาศ เหล่านักวิทยาศาสตร์จำเป็นต้องทดลองให้แน่ใจในทุกด้านเสียก่อน โดยเริ่มจากคำถามที่ว่า คนเราจะสามารถร่วมรักในสภาวะไร้แรงโน้มถ่วงได้จริงหรือไม่ ในการทดลองนี้ เหล่านักวิทยาศาสตร์ให้อาสาสมัครที่เป็นคู่สามีภรรยามาลองกอดกันในสภาวะไร้น้ำหนักบนเครื่องบิน Zero G force 1 boeing 737 ซึ่งเครื่องบินนี้จะบินอยู่เหนือระดับน้ำทะเล 38,000 ฟุต หรือ 11.58 กิโลเมตรเหนือระดับน้ำทะเล ในรัฐเนวาดา สหรัฐอเมริกา เพื่อจำลองสถานการณ์การบินด้วย

และอาสาสมัครที่เราได้มาในครั้งนี้คือคุณวานนา บอนต้า (Vanna Bonta) นักเขียนและนักแสดงชาวอิตาเลียน และสามีของเธอ โดยเป้าหมายหลักของทั้งสองคนคือ ต้องกอดและจูบกันให้ได้ภายในระยะเวลา 30 วินาที ฟังดูเหมือนจะง่ายใช่มั้ยคะ แต่ในสภาพไร้แรงโน้มถ่วงแบบนั้น แค่จะลอยเข้ามากอดกันก็นับว่าเป็นเรื่องยากแล้ว ดังนั้นการจะร่วมรักกันจึงจำเป็นต้องใช้ชุดอวกาศชนิดพิเศษที่เรียกว่า “2suit” ซึ่งเป็นชุดนักบินที่มีแผ่นปิดด้านหน้าขนาดใหญ่ สามารถเปิดออกและรูดซิปติดกับชุด 2suit ของคู่รักเราได้ เพื่อไม่ให้ร่างของทั้งสองลอยห่างออกจากกัน และเจ้าชุด 2suit นี้คุณวานนาก็เป็นคนออกแบบเองด้วย

บอนต้า (Vanna Bonta)
ภาพคุณวานนา บอนต้า – ขอขอบคุณภาพประกอบจากเว็บไซต์ fansshare.com

เมื่อเริ่มปฏิบัติภารกิจ คุณวานนาและสามีได้ใช้เวลาทั้งหมดสองรอบเพื่อปรับตัวให้คุ้นเคยกับสภาพไร้แรงโน้มถ่วง หลังจากนั้นในรอบที่สาม ทั้งสองคนติดชุด 2suit ของทั้งคู่เข้าด้วยกันก่อนจะพยายามจูบกัน แต่ก็ถูกขัดจังหวะโดยทีมงานที่ขึ้นไปกับกำกับดูแลบนเครื่องด้วย ทำเอาทุกคนถึงกับเซ็งกันเลยทีเดียว แต่จะไปโทษทีมงานก็ไม่ได้ เพราะนี่เป็นการทดลองครั้งสำคัญ จะให้ทั้งสองขอความเป็นส่วนตัวแล้วไปแอบจู๋จี๋กันตามลำพังก็คงไม่ได้

ภาพชุด 2suit – ขอขอบคุณภาพประกอบจากเว็บไซต์ repubblica.it

คุณวานนาและสามียังคงพยายามจะจูบกันอีกหลายครั้ง แต่กว่าจะสำเร็จก็ปาเข้าไปรอบที่แปด เรียกได้ว่าลุ้นกันทั้งคนจูบทั้งทีมงานอย่างกับฉากเลิฟซีนในละครอย่างไรอย่างนั้น และหลังจากจูบกันเป็นระยะเวลาสั้นๆ ทั้งสองคนก็ลงจากเครื่องและกลับมายังพื้นโลกได้สำเร็จ ถือเป็นการสิ้นสุดการทดลองเล็กๆ น้อยๆ ก่อนจะนำไปสู่การร่วมรักกันอย่างจริงจังในอนาคต เพราะนอกจากเรื่องของแรงโน้มถ่วงแล้ว สิ่งที่ต้องคำนึงถึงต่อมาคือเรื่องกฎแรงปฏิกิริยาของเซอร์ไอแซค นิวตัน หรือกฎของนิวตันข้อที่สาม (Newton’s third law)

โดยในกฏนี้กล่าวว่า “แรงที่วัตถุที่หนึ่งกระทำต่อวัตถุที่สอง ย่อมเท่ากับ แรงที่วัตถุที่สองกระทำต่อวัตถุที่หนึ่ง แต่ทิศทางตรงข้ามกัน” หรือ Action = Reaction เหมือนกับการที่เราเหวี่ยงลูกเหล็กลูกหนึ่งไปชนกับอีกลูกหนึ่ง โดยแรงที่ลูกเหล็กหนึ่งกระแทกลูกเหล็กสองนั้นจะเท่ากับแรงที่ลูกเหล็กสองกระเด็นไปในทิศทางตรงกันข้าม อธิบายง่ายๆ คือถ้าหากเราไปกันทำกิจกรรมเข้าจังหวะในสภาพไร้น้ำหนักบนอวกาศล่ะก็ แค่การกระทำครั้งเดียว ร่างของนักบินทั้งสองคนก็คงลอยคว้างไปทั่วยานแน่

คุณวานนาและสามี
ภาพการทดลองของคุณวานนาและสามี

นอกจากนี้ในกิจกรรมร่วมรักย่อมต้องมีการหลั่งของเหลวออกมา ไม่ว่าจะเป็นเหงื่อ น้ำลาย หรือน้ำของคุณผู้ชายเองก็ตาม แต่เมื่ออยู่บนอวกาศ น้ำเหล่านั้นจะไม่หยดลงพื้น แต่ลอยติดอยู่บนพื้นผิว เหมือนในกรณีของคุณคริส แฮดฟีลด์ (Chris Hadfield) นักบินอวกาศที่ได้ทดลองว่า “จะเกิดอะไรขึ้นถ้าเราร้องไห้บนอวกาศ?” โดยในการทดลองนี้คุณคริสได้หยดน้ำดื่มลงเข้าไปในดวงตาของตนเอง ซึ่งน้ำนั้นจะไม่หยดไปไหน แต่ก่อตัวเป็นก้อนหยดน้ำเหมือนเจลลี่ใสๆ ติดอยู่บนผิวหน้าและกลิ้งไปกลิ้งมารอบดวงตาของคุณคริสเอง ดังนั้นถ้าหากเหล่านักบินอวกาศต้องร่วมรักกัน ทั้งสองอาจต้องผลัดกันใช้ผ้าขนหนูหรือกระดาษทิชชู่ซับของเหลวออกจากร่างกายของอีกฝ่ายในขณะที่ทำกิจกรรมไปด้วย ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องยุ่งยากไม่น้อยเลย

ยิ่งไปกว่านั้น ตารางงานตามปกติของนักบินอวกาศก็ถือว่ายุ่งมากพออยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการรายงานผลกลับมายังโลก การสำรวจดาว หรือแม้กระทั่งการออกกำลังกายประจำวันเพื่อไม่ให้สูญเสียกล้ามเนื้อและมวลกระดูกเมื่อกลับมาถึงโลก ซึ่งนักบินอวกาศจำเป็นต้องออกกำลังกายด้วยลูู่วิ่งและเครื่องยกน้ำหนักที่ออกแบบมาเป็นพิเศษเฉลี่ยแล้ววันละ 2 ชั่วโมง แค่นี้เหล่านักบินอวกาศก็เหนื่อยจนไม่มีอารมณ์จะทำอะไรแล้ว 

คุณคริส แฮดฟีลด์
ภาพการทดลองของคุณคริส แฮดฟีลด์ – ขอขอบคุณภาพประกอบจากเว็บไซต์ chonday.com

อีกทั้งการอยู่ในภาวะไร้แรงโน้มถ่วงบนอวกาศยังทำให้ความดันของเราลดต่ำลง ส่งผลให้เลือดในร่างกายของเราไหลเวียนช้าลงตามไปด้วย และเมื่อเลือดไหลเวียนช้า การผลิตฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน (Testosterone) ซึ่งมีส่วนช่วยในการสร้างฮอร์โมนเพศชายก็จะผลิตได้น้อยลงด้วย เป็นผลให้คุณผู้ชายมีปริมาณอสุจิน้อยลง น้องชายก็แข็งตัวได้ไม่ดีพอที่จะทำกิจกรรมเข้าจังหวะแบบนั้น

นี่ยังไม่นับรวมถึงปัญหาที่ว่า ถ้าหากนักบินอวกาศสามารถปั๊มลูกกันได้สำเร็จแล้ว การที่ต้องอยู่ในสภาวะไร้แรงโน้มถ่วงในอวกาศจะเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์หรือไม่ การแบ่งเซลล์และพัฒนาการอวัยวะของทารกจะยังคงทำได้ดีอยู่หรือไม่ เด็กจะเสี่ยงเป็นโรคอะไรตามมาบ้างหรือเปล่า ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ยังคงต้องหาคำตอบเหล่านี้ต่อไปก่อนที่เราจะสามารถส่งมนุษย์ขึ้นไปร่วมรักกันบนอวกาศได้จริงๆ

แค่ฟังดูก็น่าเหนื่อยแล้วใช่มั้ยคะ ใครจะไปคิดว่าแค่การร่วมรักกันมันจะยากถึงขนาดนี้ และถ้าหากชอบบทความสาระดีดีอย่างนี้ ก็อย่าลืมกดติดตามและกดกระดิ่งช่อง eduHUB กันด้วยนะคะ สำหรับวันนี้พวกเรา eduHUB ก็ต้องขอลาไปก่อน สวัสดีค่ะ