
เมื่อพูดถึงการใช้ชีวิตบนอวกาศ สิ่งหนึ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งเลยก็คือการรับประทานอาหาร แต่นักบินที่อยู่บนอวกาศเขากินอะไรกันล่ะ ในเมื่อเราไม่สามารถจุดเตาทำอาหารได้เหมือนตอนที่อยู่บนโลก แถมบนนั้นยังไม่มีร้านอาหารหรือร้านสะดวกซื้อที่จะคอยขายอาหารอร่อยๆ ให้เราอีกด้วย นี่ยังไม่พูดถึงเรื่องการกินอาหารในสภาวะไร้แรงโน้มถ่วงที่จะต้องลำบากกว่าอยู่บนโลกแน่นอน ดังนั้นวันนี้เราจะพาท่านผู้ชมทุกท่านไปดูกันว่านักบินกินอะไรบนอวกาศ
ตั้งแต่การส่งมนุษย์ขึ้นไปบนอวกาศครั้งแรก เราก็ต้องมาคิดกันแล้วว่านักบินอวกาศจะกินอะไรระหว่างปฏิบัติภารกิจ ซึ่งทางองค์การทั้งหลายต่างก็ทำการค้นคว้าวิจัยกันอย่างนักเพื่อหาอาหารที่มีโภชนาการเหมาะสม อยู่ในหีบห่อที่นักบินสามารถกินได้ง่ายในสภาวะไร้แรงโน้มถ่วง เก็บไว้ได้นาน และที่สำคัญที่สุดเลยคือมันต้องอร่อยด้วย!

เริ่มกันจากคำถามที่ว่าจะทำอย่างไรจึงจะสามารถเก็บอาหารไว้ได้นานพอที่นักบินจะสามารถใช้กินตลอดภารกิจนานหลายเดือนได้ คำตอบของมันง่ายมาก โดยย้อนไปตั้งแต่ในยุคโบราณ มนุษย์เราได้คิดค้นการถนอมอาหารขึ้นด้วยการตากแห้งและการหมักดอง หลังจากนั้นเราก็เริ่มเรียนรู้การพาสเจอร์ไรส์หรือการฆ่าเชื้อโรคด้วยความร้อนก่อนจะนำไปบรรจุกระป๋องหรือภาชนะที่ปิดสนิทเพื่อป้องกันจุลินทรีย์
ด้วยเทคนิคเหล่านี้จะทำให้มนุษย์เราสามารถเก็บอาหารได้นานขึ้น แต่เท่านั้นยังไม่พอ เรายังได้คิดค้นเทคโนโลยีล่าสุดหรือก็คือการแช่เย็นและการแช่แข็งเฉียบพลัน (quick-freezing) ด้วยวิธีนอกจากอาหารจะเก็บได้นานขึ้นแล้ว ยังสามารถรักษารสชาติและสารอาหารให้คงอยู่ครบด้วย

และเมื่อเราเคลียร์ปัญหาการเก็บอาหารได้แล้ว ถัดมาคือเรื่องของการขนส่งและการกินในสภาวะไร้น้ำหนัก ดังนั้นเราจึงต้องพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสมด้วย ดังนั้นโครงการเมอร์คิวรีที่เป็นโครงการพิเศษสำหรับทดสอบการบินในยุคนั้นจึงได้ทดลองเตรียมอาหารให้กับนักบินในโครงการ ว่านักบินจะมีการเคี้ยว ดื่ม และกลืนอาหารอย่างไรในสภาวะไร้แรงโน้มถ่วง ดังนั้นอาหารของนักบินอวกาศในยุคแรกๆ คืออาหารแห้งอัดก้อนกับอาหารเหลวที่บรรจุในหลอดอะลูมิเนียมเหมือนหลอดยาสีฟัน และเพื่อไม่ให้อาหารบางชนิดที่มีฤทธิ์เป็นกรด อย่างน้ำแอปเปิ้ล กัดกร่อนผิวโลหะและทำให้เกิดการปนเปื้อน ภายในหลอดอาหารจึงได้มีการเคลือบวัสดุพิเศษเอาไว้
แต่ปัญหาที่พบเจอจากการใช้หลอดอะลูมิเนียมคือ หลอดมันหนักกว่าอาหารข้างในเสียอีก ทำให้ภายหลังมีการพัฒนามาใช้หลอดพลาสติกที่มีน้ำหนักเบากว่าแทน ก็นับว่าเคลียร์ปัญหาไปได้เปราะหนึ่ง แต่นั่นกลับสร้างอีกปัญหาหนึ่งตามมา นั่นก็คืออาหารในหลอดยาสีฟันพวกนี้มันไม่อร่อยเอาซะเลย! แถมอาหารแห้งอัดก้อนยังต้องหาน้ำมาเติมถึงจะกินได้อีก สร้างความยุ่งยากให้กับนักบินเป็นอย่างมาก ดังนั้นนักวิทยาศาสตร์จึงได้พัฒนาอาหารอัดก้อนแบบใหม่ที่ไม่ต้องเติมน้ำ เพียงแค่เอาเข้าปากแล้วเคี้ยว อาหารก็จะนิ่มลงเอง แถมยังมาในรูปแบบพอดีคำ จะได้ไม่ต้องตัดหรือกัดก่อนด้วย และถ้าหากใครจะกัดก็ไม่ต้องห่วงว่าเศษอาหารจะหลุดลอยไปอุดตันเครื่องยนต์หรือใครบังเอิญหายใจเข้าไป เพราะอาหารชนิดนี้ถูกเคลือบด้วยวุ้นอีกที เพื่อป้องกันการแตกตัวด้วย ก่อนจะนำอาหารก้อนเหล่านั้นไปห่อด้วยฟิล์มพลาสติกระบบสุญญากาศ เพื่อรักษากลิ่นและรสชาติ อีกทั้งยังทำให้เก็บไว้ได้นานด้วย

ในปัจจุบัน เรามีโครงการส่งหุ่นยนต์หรือคนขึ้นไปอวกาศอยู่เรื่อยๆ แต่เนื่องจากการส่งยานขึ้นอวกาศแต่ละครั้งนั้นกินพลังงานเชื้อเพลิงมาก ทำให้องค์การนาซ่าพยายามพัฒนาอาหารที่มีน้ำหนักเบาแต่ให้พลังงานสูงขึ้นมา โดยอาหารแต่ละชนิดต้องให้พลังงานราว 700-900 กิโลแคลอรี จะได้ประหยัดเชื้อเพลิงในการเดินทางของยานลง อีกทั้งอาหารนั้นยังต้องถนอมให้เก็บได้นานถึงหกเดือน สำหรับโครงการส่งคนขึ้นดาวอังคารที่กำลังจะมาถึงในอนาคตด้วย
นอกจากนี้ในภารกิจสำรวจดาวอังคารยังต้องขนอุปกรณ์ไปเยอะ ดังนั้นนาซ่าจึงต้องพยายามลดการใช้พื้นที่เก็บอาหารลง โดยพัฒนาอาหารที่แค่แพคเดียวก็สามารถใช้กินไปได้หลายอาทิตย์ขึ้นมา แต่ว่าแพคอาหารเหล่านั้นคงจะไม่ได้มีอาหารให้เลือกหลายชนิดเหมือนที่อยู่บนโลก เนื่องจากข้อจำกัดทางด้านพื้นที่ ดังนั้นนักบินทั้งหลายก็คงต้องทนเบื่อทานอาหารซ้ำๆ กันหน่อย

และถึงแม้ว่าในปัจจุบันนี้เราจะมีอาหารแท่งที่ให้พลังงานสูงอย่างโปรตีนบาร์อยู่แล้ว แต่สำหรับนักบินอวกาศ เราอาจต้องการอะไรที่มากกว่านั้น เนื่องจากโปรตีนบาร์ทั่วไปยังเก็บได้ไม่นานพอ อีกทั้งยังมีรสชาติไม่หลากหลายด้วย นักวิทยาศาสตร์จึงกำลังคิดค้นอาหารแท่งที่จะเก็บได้นานขึ้น และผลิตรสอื่นๆ ออกมาให้มากขึ้น โดยตอนนี้กำลังพัฒนารสแครนเบอร์รี่ ส้ม และถั่วบาร์บีคิวอยู่
ทั้งนี้การกินอาหารก็ส่งผลต่อสภาพจิตใจของนักบินเช่นกัน คุณลองคิดสภาพว่าตนเองต้องการอาหารแท่งตลอดครึ่งปีดูสิว่ามันจะทำให้สภาพจิตใจคุณห่อเหี่ยวขนาดไหน ดังนั้นนักวิทยาศาสตร์จึงกำลังพยายามคิดค้นหาทางอื่นๆ อยู่ ไม่ว่าจะเป็นระบบการปลูกผักบนอวกาศ และพยายามทำอาหารแปรรูปอื่นๆ

เป็นยังไงกันบ้างคะเพื่อนๆ กับอาหารอวกาศ มีเพื่อนๆคนไหนอยากลองกินกันบ้างไหมคะ และที่สำคัญพวกเราต้องขอขอบพระคุณข้อมูลดีๆจากเว็ป thaiastro และเว็ป voathai สุดท้ายนี้หากถูกใจคลิปของพวกเราอย่าลืมกดติดตามและกดกระดิ่งช่อง eduHUB กันด้วยนะคะ