ไทม์แมชชีน เครื่องมือที่จะช่วยให้เราย้อนกลับไปในอดีต หรือข้ามไปยังอนาคต ไทม์แมชชีนนี้เป็นอุปกรณ์ที่นักวิทยาศาสตร์หลายคนใฝ่ฝันจะสร้างมานานมากแล้ว แต่มนุษย์เราจะสามารถสร้างไทม์แมชชีนได้จริงหรือ? การที่จะตอบคำถามนี้ได้นั้น เราจำเป็นต้องพิจารณาเรื่องดังต่อไปนี้เสียก่อน
1. ข้ามเวลาผ่านรูหนอน
ในเรื่องรูหนอนนี้ เริ่มแรกให้เราลองจินตนาการว่าเส้นเวลานั้นเป็นเส้นตรงเสียก่อน นั่นคือจุดเริ่มต้นของเส้นเวลาอยู่ที่อดีต เมื่อตรงมาตามเส้นเรื่อยๆ ก็จะเป็นปัจจุบัน และลากต่อไปอีกเป็นอนาคต นี่เป็นกฏพื้นฐานของกาลเวลา แต่ทั้งนี้ตามทฤษฎีของอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ กล่าวว่ามิติเวลาไม่ได้ราบเรียบเป็นเส้นตรงอย่างนั้น ในจักรวาลนี้ประกอบไปด้วยปริภูมิ (Space) และเวลา (Time) ซึ่งปริภูมินี้ให้จินตนาการเป็นภาพ 3 มิติที่มีทั้งกว้าง ยาว สูง บวกกับมิติของเวลาเข้าไปอีก 1 มิติ จึงเป็น 4 มิติ ซึ่งถ้าหากเราสามารถบีบระยะทางจากจุดสองจุดในปริภูมิ-เวลานี้ให้เข้ามาใกล้กันได้ เราก็จะสามารถเดินทางข้ามเวลาได้ และอุโมงค์ที่ย่นย่อระยะทางให้เข้าใกล้กันนี้เราก็เรียกมันว่า “รูหนอน” หรือ Wormhole นั่นเอง
แต่รูหนอนนี้จะมีอยู่จริงหรือไม่ นักวิทยาศาสตร์คาดว่ารูหนอนอาจเกิดขึ้นได้เองตามธรรมชาติ แต่มันอาจอยู่ห่างไกลออกไปในอวกาศหลายล้านปีแสง นอกจากนี้เรายังไม่มีทางรู้อกีด้วยว่าถ้าหากเราเข้าไปในรูหนอนแล้ว มันจะทะลุไปยังช่วงเวลาไหน และต่อให้รู้และสามารถควบคุมจุดเวลาที่เราจะลงได้ แต่ก็มีปัญหาอื่นๆ อยู่อีก เช่น ความคงทนของรูหนอน จากการคำนวนของนักวิทยาศาสตร์คาดว่ารูหนอนอาจพังลงมาได้ง่าย ซึ่งมันจะบดขยี้นักบินพร้อมกับยานที่อยู่ในนั้นจนแหลกละเอียด ดังนั้นก่อนเดินทางเข้าไป เราอาจต้องหาวิธีการรับมือให้แน่ใจเสียก่อนว่ามันจะไม่เกิดอันตรายเช่นนี้ขึ้น
ดังนั้นเราต้องมาหาวิธีทำให้ปากรูหนอนเปิดให้ได้นานที่สุดก่อน ซึ่งศาสตร์ตราจารย์ทามารา เดวิส นักจักรวาลวิทยาจาก มหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ ประเทศออสเตรเลีย ก็บอกว่าการจะทำเช่นนั้นได้เป็นเรื่องที่ยากมาก เพราะมันต้องใช้พลังงานลบมาต้านแรงโน้มถ่วงไม่ให้ปากรูหนอนปิด แต่จนถึงทุกวันนี้เราก็ยังหาพลังงานที่ว่านี้ไม่พบ นอกเสียจากว่าพลังงานนั้นมันจะเป็นพลังงานมืด (Dark energy) ที่มีอยู่จริงและเป็นตัวเร่งของจักรวาล
2. กาลเวลาที่หมุนเหมือนน้ำวน
ด้วยแรงบันดาลใจจากนิยายเรื่อง The Time Machine ของเอช.จี.เวลส์ ศาสตราจารย์โรนัลด์ มัลเลตต์ จากมหาวิทยาลัยคอนเนตทิคัต ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้พยายามสร้างเครื่องข้ามเวลาขึ้นมา เพื่อย้อนเวลากลับไปหาพ่อที่เสียชีวิตไปเมื่อเขายังเล็ก ซึ่งเครื่องข้ามเวลาที่เขาคิดขึ้นใช้หลักการที่ต่างไปจากไอน์สไตน์ นั่นคือเวลาไม่ได้เดินทางเป็นเส้นตรงอย่างที่เราเข้าใจ แต่หมุนเป็นเกลียวเหมือนน้ำวน
มัลเลตต์ได้อธิบายหลักการนี้ด้วยการสร้างอุปกรณ์ตั้งโต๊ะที่มีแสงเลเซอร์หมุนวนอยู่ภายในขึ้นมา ซึ่งในวงแหวนนี้ก็คือปริภูมิที่ถูกบิดเป็นวงกลม ซึ่งถ้าหากปริภูมิถูกบิดแแล้วกาลเวลาในวงแหวนนี้ก็น่าจะถูกบิดไปด้วย เกิดเป็นวังวนจนอดีตสู่ปัจจุบัน จากปัจจุบันสู่อนาคต และจากอนาคตกลับสู่อดีตอีกครั้ง แต่การจะทำเช่นนี้ได้ต้องมีพลังงานปริมาณมหาศาลและต้องย่อนักบินและยานให้เล็กถึงระดับไมโครเท่านั้นจึงจะสามารถข้ามเวลาได้
3. อดีต-ปัจจุบัน-อนาคต มีอยู่พร้อมกันหรือไม่ ?
จากแนวคิดที่ว่าอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ล้วนเป็นจริงเท่าเทียมกัน จึงคาดว่าปริภูมิ-เวลาทั้งสามช่วงนี้เกิดขึ้นพร้อมกันในจุดใดจุดหนึ่งของจักรวาลเสมอ หรือก็เกิดเหตุการณ์ตอนที่ไดโนเสาร์ยังไม่สูญพันธุ์ เหตุการณ์ที่เรากำลังทำอยู่ในตอนนี้ และเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นกับตัวเราในอนาคตนั้นตั้งอยู่บนเส้นปริภูมิ-เวลาเดียวกัน แต่อยู่คนละจุดเท่านั้น เหมือนกับที่เวลาของประเทศไทยเราและประเทศลอนดอนต่างกันอยู่หลายชั่วโมง เพราะอยู่คนละตำแหน่งกัน แต่เราต่างก็มีชีวิตอยู่บนเส้นเวลาเดียวกันนั้นเอง ซึ่งถ้าหากเรายึดตามทฤษฎีนี้การเดินทางข้ามเวลาก็ย่อมเป็นไปได้ เช่นเดียวกับที่เราสามารถเดินทางไปลอนดอนได้ แต่จะติดปัญหาอยู่ที่เมื่ออดีต ปัจจุบัน และอนาคตถูกกำหนดไว้แล้ว ดังนั้นเราจึงไม่สามารถข้ามเวลาไปเปลี่ยนแปลงมันได้ เหมือนกับที่เราไม่สามารถย้อนกลับไปฆ่าฮิตเลอร์ เพื่อหยุดการสังหารหมู่ชาวยิวได้
แน่นอนว่าตอนนี้เรายังไม่สามารถสร้ๅางไทม์แมชชีนได้และนักวิทยาศาสตร์บางคนก็มองว่ามันเป็นไปไม่ได้ด้วย แต่ถึงกระนั้นถ้าหากความรู้เรื่องฟิสิกส์ควอนตัมก้าวหน้าขึ้น ไม่แน่ว่าในอนาคตเราอาจจะยังพอมีหวังที่จะสามารถเดินทางข้ามเวลาได้ก็เป็นได้ แล้วเป็นยังไงบ้างคะเพื่อนๆ เพื่อนๆคิดว่ามีโอกาสไหมที่เราจะเดินทางไปในอดีตหรืออนาคต สุดท้ายนี้หากถูกใจคลิปของพวกเราอย่าลืมกดติดตามและกดกระดิ่งช่อง eduHUB กันด้วยนะคะ