ท่านผู้ชมเคยมีเรื่องเครียดกันบ้างมั้ยครับ? บางทีเวลาที่เราต้องเจอกับเรื่องที่เครียดมากๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงาน เรื่องเรียน หรือแม้กระทั่งเรื่องความรัก เราเองก็อาจจะอยากกรี๊ดออกมาดังๆ เพื่อระบายความเครียดใช่มั้ยครับ แต่รู้หรือไม่ว่าต้นไม้เอง เวลาที่ต้องเจอกับเรื่องเครียดๆ อย่างภาวะภัยแล้ง หรือโดนสัตว์กัดกิน ต้นไม้เองก็เปล่งเสียงร้องออกมาเช่นกัน
ก่อนหน้านี้เคยมีงานวิจัยหลายชิ้นพบว่าพืชสามารถตอบสนองต่อเสียงได้ อย่างงานวิจัยที่ว่า ถ้าหากเราเปิดเพลงคลาสสิกหรือเพลงป๊อปให้ต้นไม้ฟัง ต้นไม้ก็จะเจริญเติบโตได้ดีขึ้น แต่ในทางกลับกัน ถ้าหากเราเปิดเพลงแนวร็อคหรือเพลงแนว EDM ต้นไม้จะโตช้าลง ซึ่งนั่นทำให้เรารู้ว่าต้นไม้สามารถ “ได้ยิน” เสียงต่างๆ รอบตัวได้ ดังนั้นคำถามถัดมาคือ แล้วต้นไม้จะสามารถ “พูด” หรือเปล่งเสียงออกมาได้รึเปล่า
ในการทดลองก่อนหน้านี้ ทีมนักวิจัยได้ทดลองติดเครื่องบันทึกเสียงเข้ากับตัวต้นไม้โดยตรงเพื่อฟังเสียงภายในลำต้น และพบว่ากลุ่มต้นไม้ที่เครียดเพราะภัยแล้งจะมีเสียงเหมือนฟองสบู่แตกและมีการสั่นสะเทือนภายในเนื้อเยื่อส่วนที่ใช้อุ้มน้ำ แสดงให้เห็นว่าพืชที่รู้สึกเครียดสามารถสร้างเสียงบางอย่างขึ้นมาได้จริงๆ ดังนั้นเหล่านักวิจัยจึงได้ทำการทดลองเพิ่มเติม เพื่อทดสอบดูว่าเสียงจากความเครียดเหล่านั้นสามารถส่งผ่านอากาศไปยังต้นไม้ต้นอื่นๆ ในบริเวณใกล้เคียงได้หรือไม่
จากงานวิจัยที่โพสต์ในฐานข้อมูล bioRxiv (ไบโออาร์ไคว์ฟ) เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2019 พบว่านักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทลอาวีฟ ในอิสราเอล ได้ลองวางไมโครโฟนไว้ใกล้กับต้นมะเขือเทศและต้นยาสูบที่อยู่ในสภาวะเครียด โดยแบ่งออกเป็นความเครียดจากภาวะภัยแล้ง และความเครียดจากการบาดเจ็บทางกายภาพ อย่างการโดนหักกิ่ง ผลที่ได้คือต้นไม้เหล่านั้นสามารถส่งเสียงกรีดร้องออกมาได้จริงๆ ! โดยอุปกรณ์ของทีมวิจัยสามารถตรวจจับเสียงกรี๊ดแบบอัลตราโซนิกจากต้นไม้ได้จากระยะห่างประมาณ 4 นิ้ว หรือราวๆ 10 เซนติเมตร ซึ่งเสียงดังกล่าวจะค่อยๆ ลดลงในช่วง 20 ถึง 100 กิโลเฮิร์ตซ์
นอกจากนี้ทีมวิจัยยังพบว่า พืชแต่ละชนิดจะเปล่งเสียงไม่เหมือนกัน ในความถี่ที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับประเภทของความเครียดที่พืชได้รับ โดยต้นมะเขือเทศที่เครียดจากภัยแล้งจะปล่อยเสียงออกมาประมาณ 35 อัลตราโซนิคสควีล (ultrasonic squeals) ต่อชั่วโมง ส่วนต้นมะเขือเทศที่โดนหักกิ่งเปล่งเสียงออกมาได้ 25 อัลตราโซนิคสควีล ในขณะที่ต้นยาสูบที่เครียดจากภาวะภัยแล้งจะปล่อยเสียงออกมา 11 อัลตราโซนิคสควีล ส่วนต้นยาสูบที่โดนตัดกิ่งเปล่งเสียงได้ 15 อัลตราโซนิคสควีล ซึ่งถือว่าต้นไม้เหล่านี้ร้องออกมาได้ดังทีเดียว เมื่อเทียบกับต้นมะเขือและต้นยาสูบที่ไม่ได้รับความเครียดเลย ซึ่งเสียงของพวกมันน้อยกว่า 1 อัลตราโซนิคสควีลต่อชั่วโมงเสียอีก
อย่างไรก็ตามเสียงอัลตราโซนิคนี้เป็นคลื่นเสียงที่มีความถี่สูงเกินกว่าหูมนุษย์ของเรา จะได้ยิน พูดได้ว่าโดยทั่วไปแล้วมนุษย์ไม่มีทางได้ยินเสียงกรี๊ดของต้นไม้เลยก็ว่าได้ นอกเสียจากว่าเราจะฟังผ่านเครื่องมือที่สร้างขึ้นมาเพื่อตรวจจับเสียงของต้นไม้เป็นพิเศษ
“เสียงร้องของต้นไม้ที่เกิดจากความเครียดเพราะภาวะภัยแล้งนี้ อาจจะสามารถนำไปใช้เพิ่มความแม่นยำด้านการเกษตรได้ ถ้าหากเราไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการติดตั้งเครื่องบันทึกเสียงภาคสนามมากจนเกินไปนะ” แอน วิสเชอร์ (Anne Visscher) สมาชิกจากแผนกชีววิทยาพืชและเชื้อรา ที่สวนพฤกษศาสตร์รอยัล สหราชอาณาจักร กล่าว
และถึงแม้ว่าหูของมนุษย์เราจะไม่สามารถได้ยินเสียงกรี๊ดของต้นไม้ได้ แต่ในทางทฤษฏี นักวิจัยคาดว่าพวกสัตว์หรือแมลงบางชนิดอาจจะสามารถได้ยินเสียงกรีดร้องเพราะความเครียดของต้นไม้ได้ ยกตัวอย่างเช่น ผีเสื้อราตรี ที่อาจตัดสินใจว่าจะวางไข่บนต้นไม้ต้นไหนจากเสียงแห่งความเครียดที่ต้นไม้ปล่อยออกมา แต่ทั้งหมดนี้ก็ยังเป็นเพียงแค่ข้อสันนิษฐานเท่านั้น
จากการทดลองข้างต้นนี้แสดงให้เห็นแล้วว่าเราสามารถ “ได้ยิน” เสียงกรี๊ดของต้นไม้ผ่านอุปกรณ์เฉพาะได้ ซึ่งเหล่านักวิจัยก็ยังคงสงสัยต่อไปอีกว่า นอกจากเราจะ “ได้ยิน” เสียงของต้นไม้แล้ว เราจะสามารถแปลความหมายจากเสียงที่ต้นไม้เปล่งออกมาได้ด้วยรึเปล่า ทีมนักวิจัยเลยลองอัพโหลดเสียงกรี๊ดของต้นไม้ที่บันทึกไว้ลงในโปรแกรม AI หลังจากนั้นก็ลองให้ AI แปลความหมายของเสียงกรีดร้องเหล่านั้นดู และพบว่า AI สามารถแปลและจัดกลุ่มความหมายเสียงกรี๊ดแต่ละแบบของต้นไม้ได้จริงๆ ! โดยสามารถแยกเสียงกรี๊ดของต้นไม้ทั้งหมดออกเป็น 3 กลุ่ม นั่นคือกลุ่มแห้งแล้ง กลุ่มโดนตัด และกลุ่มไม่เสียหาย ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นเป็นอย่างมาก ที่เราอาจจะสามารถเข้าใจคำพูดของต้นไม้ได้แล้ว!
แต่โดยรวมแล้ว งานวิจัยนี้เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น เพราะนอกจากการกรีดร้องแล้ว ต้นไม้ยังสามารถแสดงออกถึงความเครียดได้อีกหลากหลายวิธี เช่น การปล่อยสารเคมีที่มีกลิ่นเหม็นออกมา หรือการเปลี่ยนสีและรูปร่างเมื่อได้รับความเครียด เช่นเดียวกับมนุษย์ที่อาจแสดงออกต่อความเครียดที่แตกต่างกัน ซึ่งบางคนอาจจะหาอะไรอร่อยๆ กิน บางคนอาจจะดูหนังฟังเพลง หรือแม้แต่เปลี่ยนมาออกกำลังกายเพื่อระบายความเครียด นักวิจัยยังคงต้องทดลองกันต่อไป ว่าต้นไม้ชนิดอื่นๆ ที่ไม่ใช่ต้นมะเขือเทศกับต้นยาสูบจะสามารถเปล่งเสียงร้องออกมาได้เหมือนกันรึเปล่า และถ้าได้ ต้นไม้เหล่านั้นจะเปล่งเสียงออกมาได้ดังแค่ไหน
อีกทั้งในการวิจัยนี้ก็ยังไม่ได้ทดสอบกับพืชที่เครียดเพราะติดโรค พืชที่อยู่ในอุณหภูมิที่ไม่เหมาะสม หรือพืชถูกปลูกอยู่ในดินที่มีค่าเกลือมากเกินไป ว่าต้นไม้เหล่านี้จะสามารถเปล่งเสียงกรีดร้องออกมาได้ด้วยมั้ย และที่สำคัญ งานวิจัยนี้ยังไม่ได้รับการตรวจสอบที่แน่ชัด ท้ายที่สุดแล้วการทดลองนี้อาจเป็นเพียงแค่ทฤษฏีเฉยๆ ก็ได้ แต่ก็นับว่าเป็นหัวข้อที่จุดประกายความอยากรู้อยากเห็นให้กับนักวิจัยรุ่นต่อๆ ไปได้ไม่น้อยเลยทีเดียว
แล้วท่านผู้ชมล่ะครับมีความคิดเห็นอย่างไรบ้าง ถ้าใครชอบบทความสาระดีดีอย่างนี้ ก็อย่าลืมกดติดตามและกดกระดิ่งช่อง eduHUB กันด้วยนะครับ