เมื่อนึกถึงอวกาศอันกว้างใหญ่ที่อาจจะเป็นความฝันของใครหลายๆคน ที่อยากจะเดินทางไปอยู่บนท่ามกลางดวงดาวอันสวยงาม แต่การเดินทางนั้นต้องแลกมาด้วยความเสี่ยง ความอันตรายต่างๆที่อาจจะเกิดขึ้นได้ไม่ว่าจะกับตัวนักบินอวกาศเองหรือสถานีอวกาศ สถานีอวกาศอาจจะเกิดอันตรายได้จากหลายสาเหตุ ปัจจัยที่สำคัญหนึ่งในนั้นก็คืออายุขัยของสถานีอวกาศและถ้าหากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิด นักบินอวกาศจำเป็นที่จะต้องคิดหาทางแก้ไขอย่างรวดเร็วอย่างเช่นเรื่องที่เราจะนำมาให้เพื่อนๆดู วันนี้พวกเราชาว eduHub จะพาเพื่อนๆไปพบกับนักบินอวกาศใช้ถุงชาแก้ปัญหารอยรั่วของสถานีอวกาศ 400 กม. เหนือพื้นโลก แต่ก่อนจะไปฟังเรื่องราวสนุกๆในวันนี้ ขอขอบคุณผู้สนับสนุนใจดี BEEclean แอพเรียกแม่บ้านสำหรับคุณ
.
ในปี 2020 นักบินอวกาศได้พบรอยรั่วบนสถานีอวกาศนานาชาติที่อยู่เหนือพื้นโลก 400 กิโลเมตร นักบินอวกาศจึงต้องพยายามหาทางแก้ไขอย่างรวดเร็ว ก่อนที่รอยรั่วจะทวีความรุนแรงขึ้น โดยปกติแล้วสถานีอวกาศจะปล่อยอากาศออกจากสถานีตลอดการเดินทางในวงโคจรของโลก ซึ่งใช้เวลา 93 นาทีต่อวงโคจร โดยจะปล่อยอากาศมากกว่า 250 กรัม ในแต่ละวันในช่วง 15 รอบครึ่งของการโคจร แต่นักบินอวกาศสังเกตเห็นความผิดปกติของจำนวนอากาศที่ถูกปล่อยออกไป
.
ปัญหานั้นได้เริ่มมาตั้งแต่กลางปี 2019 มาแล้ว แต่ปริมาณที่รั่วไหลนั้นน้อยจนพวกเขาไม่ทันได้สังเกต แต่เมื่อเวลาผ่านไปดูเหมือนว่าจะมีปริมาณของอากาศที่รั่วไหลมากขึ้น จนสถานีอวกาศเริ่มสูญเสียอากาศมากกว่าหนึ่งกิโลกรัมในทุกๆวัน นักบินอวกาศจากประเทศต่างๆ 16 ประเทศ ไม่ว่าจะเป็น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น รัสเซีย แคนาดา และยุโรป พวกเขากำลังอยู่ในสถานีอวกาศที่เกิดการรั่วไหล ศูนย์บังคับการของนาซ่าจึงสั่งให้เริ่มค้นหาแหล่งที่มาของรอยรั่วภายในสถานีอวกาศ โดยใช้เวลาในการหากว่า 4 วัน จนพบแหล่งที่มาของรอยรั่วอยู่ในส่วนที่เรียกว่า ซเวซดา (Zvezda) ที่อยู่ภายในส่วนของสถานีรัสเซีย ด้วยเหตุนี้พวกเขาจึงเริ่มทดสอบแต่ละส่วนของสถานีรัสเซียเพื่อหารอยรั่วแต่พวกเขาก็ยังไม่พบรอยรั่วที่กำลังตามหาอยู่
.
และในเดือนตุลาคม ปี 2020 นักบินอวกาศชาวรัสเซีย อานาโตลี ไอวานิชิ (Anatoly Ivanishin)ได้ทำการทดลองโดยปิดทางเชื่อมของโมดูล ซเวซดา หลังจากนั้นติดตั้งกล้องสองสามตัวไว้เพื่อสังเกตุเหตุการณ์ หลังจากนั้นก็โปรยถุงชาเอาไว้ภายในนั้นและปิดประตู พวกเขาได้สังเกตเห็นว่าถุงชาค่อยๆลอยไปทางรอยขีดข่วนเล็กๆบนผนังโลหะของสถานีอวกาศ เมื่อนักบินอวกาศมาตรวจสอบเขาพบว่านั่นไม่ใช่รอยขีดข่วน แต่เป็นรอยร้าวที่อากาศสามารถรั่วไหลออกจากสถานีอวกาศได้ พวกเขาจึงได้ทำการปิดรอยรั่วนั้นโดยใช้เทปและโฟม
.
ซึ่งเทปกาวที่พวกเขาใช้นั้นเป็นเทปกาวชนิดพิเศษที่มีความเหนียวทนทาน และทนต่อสภาพอุณหภูมิสูงได้ ต่อมาจึงปิดรูรั่วให้สนิทโดยใช้สว่านและน้ำยาผนึกตามรอยดังกล่าว การเกิดรอยรั่วขึ้นที่โมดูล ซเวซดา นั้นอาจเกิดขึ้นเพราะอายุไขของตัวโมดูลที่มีอายุการใช้งานที่นานแล้ว โดยโมดูล ซเวซดา เปิดตัวครั้งแรกในปี 2000 เรียกได้ว่าเป็นโมดูลที่เก่าที่สุดภายในสถานีอวกาศนานาชาติแห่งนี้เลยก็ว่าได้
.
สถานีอวกาศนานาชาติเปิดตัวเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน ในปี 1998 ถูกสร้างขึ้นด้วยงบประมาณถึง 150 พันล้านดอลลาร์ และมีค่าใช้จ่ายต่อปีถึง 3-4 พันล้านดอลลาร์ เพื่อการรักษาและซ่อมแซมสถานีอวกาศนานาชาติ รวมถึงรอยแตกต่างๆที่พบในสถานีที่อาจเกิดจากความเสื่อมถอยของโลหะหรือผลจากอุกกาบาตขนาดเล็ก
.
การแก้ไขปัญหาในครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงไหวพริบและความฉลาดของนักบินอวกาศ และสามารถประหยัดงบประมาณในการซ่อมแซมไปได้หลายพันล้านดอลลาร์ แต่ก็บอกสิ่งหนึ่งกับเราว่าสถานีอวกาศนานาชาตินั้นใกล้จะหมดอายุขัยแล้ว ภายใต้อวกาศและสนามแม่เหล็กต่างๆที่อันตรายต่อตัวสถานีอวกาศ อาจจะทำให้เกิดรอยรั่วแบบนี้เกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่งในวันข้างหน้า สำหรับเรื่องราวสนุกๆในวันนี้ก็มีเพียงเท่านี้ แต่ก่อนจะจากกันไปในวันนี้ขอขอบคุณผู้สนับสนุนหลัก Chatbee แอพหาคนรู้ใจใกล้คุณ โหลดเลยตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป