เพราะความฝันของมนุษย์ที่อยากจะบินได้เหมือนนกในครั้งอดีต ทำให้มนุษย์ได้สร้างเทคโนโลยีต่างๆ มากมายเพื่อนำเราขึ้นสู่ท้องฟ้า ทั้งบอลลูน เครื่องร่อน เครื่องบิน จรวด ไปจนถึงยานอวกาศที่ไม่เพียงแต่พาเราบินขึ้นไปบนฟ้า แต่ยังพาเราออกนอกอวกาศได้อีกด้วย
.
ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีนี้ทำให้ขอบเขตการสำรวจของมนุษย์เรากว้างขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็ยังติดปัญหาอยู่ที่การส่งยานอวกาศขึ้นไปนอกโลกในแต่ละครั้งย่อมเสียค่าใช้จ่ายและพลังงานจำนวนมหาศาล
.
ด้วยเหตุนี้มนุษย์เราจึงพยายามค้นหาวิธีอื่นที่จะเดินทางออกนอกโลกในต้นทุนที่ถูกลง เช่น ลิฟต์อวกาศ วงแหวนโคจร ฯลฯ ที่พวกเรา eduHUB เคยนำเสนอกันไปแล้ว แต่ก็อย่างคำกล่าวที่ว่า “สูงสุดคืนสู่สามัญ” เพราะนาซาได้ผุดไอเดียที่จะนำเทคโนโลยีเก่าๆ อย่าง “บอลลูน” กลับมาใช้เพื่อสำรวจอวกาศด้วย
.
อันที่จริงโครงการบอลลูนอวกาศนี้ก็ไม่ได้เป็นโครงการที่เพิ่งคิดค้นขึ้นมาใหม่แต่อย่างใด เพราะองค์การนาซาได้ซุ่มวิจัยเรื่องบอลลูนมาเป็นระยะเวลานานถึง 30 ปีแล้ว เนื่องจากการสร้างและส่งบอลลูนขึ้นสู่อวกาศมีต้นทุนที่ถูกกว่าการสร้างจรวดมาก แถมยังใช้เวลาในการดำเนินการที่สั้นกว่าด้วย
.
ดังนั้นถ้าทีมงานอยากปรับเปลี่ยนหรือเพิ่มเติมอะไรในโครงการบอลลูนนี้ก็สามารถทำได้โดยง่าย ผิดกับจรวดที่สร้างแล้วสร้างเลย จะรื้อออกมาปรับแก้แต่ละทีก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมหาศาล โปรเจกต์บอลลูนอวกาศนี้จึงถือเป็นอุปกรณ์การบินที่มีความเสียงต่ำ เหมาะแก่การทดลองทางวิทยาศาสตร์เล็กๆ น้อยๆ รวมไปถึงการเก็บภาพเพื่อศึกษาข้อมูลต่างๆ ด้วย
.
ด้วยเหตุนี้นาซาจึงได้มีการทดลองส่งบอลลูนขึ้นอวกาศอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดมีการส่งกล้องโทรทรรศน์แอสทรอส (ASTHROS – Astrophysics Stratospheric Telescope for High Spectral Resolution Observations at Submillimeterwavelengths) ขึ้นสู่อวกาศเพื่อศึกษาทิศทางการเคลื่อนที่และอัตราความเร็วของก๊าซที่โคจรอยู่รอบดาวฤกษ์เกิดใหม่
.
ซึ่งอาศัยอยู่ในบริเวณเนบิวลา คารินา (Carina nebula) อันเป็นที่อยู่ของดวงดาวแรกเกิดจำนวนมาก ก่อนที่นักวิทยาศาสตร์จะนำข้อมูลที่ได้มาสร้างเป็นแผนที่ 3 มิติอย่างละเอียดต่อไป
.
ถึงแม้จะฟังดูธรรมดาเหมือนแค่เอากล้องติดลูกโป่งแล้วปล่อยให้ลอยขึ้นฟ้า แต่จริงๆ แล้วกล้องโทรทรรศน์ที่ว่านี้มีความสูงมากถึง 2.5 เมตร และหนักมากถึง 2,500 กิโลกรัม
.
กล้องนี้ก็จะถูกผูกติดกับบอลลูนขนาดใหญ่ โดยบอลลูนจะโคจรวนรอบโลก 2-3 รอบตามแรงลม และใช้เวลารวมทั้งสิ้น 28 วัน เพื่อเดินทางขึ้นไปถึงบรรยากาศชั้นสตราโตสเฟียร์ ก่อนจะเก็บข้อมูลกลับมาให้เราดูต่อไป
.
นี่อาจจะดูเป็นการเดินทางที่กินระยะเวลานานไปหน่อย แต่เมื่อเปรียบเทียบระหว่างข้อมูลที่ได้มาและต้นทุนที่จ่ายไปแล้วก็ยังถือว่าคุ้มค่ามากๆ จึงไม่แน่ว่าในอนาคตเทคโนโลยีบอลลูนอวกาศนี้อาจจะกลายเป็นความหวังใหม่ของมนุษยชาติในการเดินทางขึ้นสู่อวกาศก็ได้
.
แล้วเพื่อนๆ ล่ะคะมีความคิดเห็นอย่างไรบ้าง มีใครอยากจะลองนั่งบอลลูนไปเที่ยวอวกาศกันบ้างมั้ย คอมเม้นต์เข้ามาบอกพวกเรากันได้นะคะ และก่อนจากไปวันนี้ อย่าลืมกดไลก์และกดติดตามช่องยูทูป eduHUB ไว้ เพื่อจะได้ไม่พลาดคลิปใหม่ๆ ของพวกเราด้วยนะคะ ขอบคุณค่ะ
.
สนับสนุนโดย BEEclean แอปเรียกแม่บ้าน สำหรับคุณ ดาวโหลดได้แล้ววันนี้ ทั้ง ios เเละ android