ในจักรวาลที่กว้างใหญ่เต็มไปด้วยดวงดาวต่างๆ มากมาย รอให้มนุษย์เราได้ออกไปสำรวจ แต่ดวงดาวเหล่านั้นกลับอยู่ห่างไกลเสียเหลือเกิน ดาวบางดวงที่น่าสนใจอาจจะอยู่ห่างออกไปไกลถึงหลายร้อยหรือหลายพันปีแสง ขนาดที่ว่าถ้าหากเราเดินทางขึ้นอวกาศไปวันนี้ เราก็คงแก่ตายก่อนได้เดินทางไปถึงแน่ ดังนั้นถ้าเราอยากจะขยายขอบเขตการเดินทางสำรวจขึ้น เราก็จำเป็นต้องมี “ทางด่วน” สำหรับย่นเวลาเดินทางในอวกาศ!
.
ด้วยเหตุนี้ทีมนักดาราศาสตร์และนักวิจัยสาขาวิศวกรรมการบิน จากประเทศเซอร์เบียและสหรัฐอเมริกา จึงได้คิดค้นไอเดียสุดล้ำ “ซูเปอร์ไฮเวย์อวกาศ” (space superhighway) ขึ้นมา และงานวิจัยนี้ก็ได้ตีพิมพ์ลงในวารสารวิชาการ Science Advances ด้วย
.
ไอเดียนี้มันเริ่มมาจากการศึกษาที่พบว่า วัตถุทั้งหลายบนอวกาศ อย่างเช่น ดาวเคราะห์น้อยหรือดาวหาง จะเคลื่อนที่จากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่งด้วยแรงโน้มถ่วงที่มีอยู่ในอวกาศ ทำให้เกิดเป็นเส้นทางที่เชื่อมต่อจากดาวหนึ่งไปสู่อีกดาวหนึ่งขึ้น เช่น ดาวหางโดนแรงโน้มถ่วงจากโลกเหวี่ยงไปยังดาวศุกร์ ก่อนที่ดาวศุกร์จะเหวี่ยงดาวหางต่อไปยังดาวพุธ จึงเกิดเป็นเส้นทางจากโลกไปดาวพุธ เป็นต้น
.
ถ้าหากมองด้วยตาเปล่า เราก็คงไม่มีวันเข้าใจเส้นทางอันซับซ้อนเหล่านี้ ดังนั้นทีมนักดาราศาสตร์และนักวิจัยกลุ่มนี้จึงได้ใช้คอมพิวเตอร์คำนวนเส้นทางทั้งหมดดูจนเห็นเป็นทางเชื่อมต่อระหว่างดาวเหมือนเป็นทางด่วนพิเศษ
.
หลังจากนั้นพวกเขาก็วางแผนว่าจะใช้แรงโน้มถ่วงเหล่านี้เป็นตัวเร่งให้ยานอวกาศเดินทางข้ามจักรวาลด้วยความเร็วที่สูงขึ้น จนถึงขั้นที่เราสามารถเดินทางออกนอกระบบสุริยะได้ในเวลาไม่กี่สิบปี จากที่ก่อนหน้านี้อาจต้องใช้เวลาหลายแสนปี หรืออาจนานถึงเป็นล้านปีเลยก็ได้
.
อาจจะฟังดูเหลือเชื่อ แต่การใช้แรงโน้มถ่วงของดาวเคราะห์ในการเร่งความเร็วนี้ก็เคยเกิดขึ้นจริงแล้วในภารกิจยานวอยเอจเจอร์ 1 (Voyager 1) และวอยเอจเจอร์ 2 (Voyager 2) โดยยานทั้งสองได้โคจรรอบดาวพฤหัสบดี เพื่อใช้แรงเหวี่ยงจากดาวดวงนั้นดีดยานจนไปถึงกำแพงไฟที่อยู่ตรงสุดขอบระบบสุริยะภายในระยะเวลาเพียงแค่ 42 ปีเท่านั้น
.
ในงานวิจัยยังระบุเพิ่มเติมอีกด้วยว่า จุดเชื่อมต่อที่ใหญ่ที่สุดของทางด่วนอวกาศนี้ก็คือดาวพฤหัสบดีนั่นเอง เนื่องจากดาวพฤหัสเป็นดาวเคราะห์ที่มีมวลมากที่สุด ทำให้มันกลายเป็นจุดที่มีแรงส่งมากที่สุดตามไปด้วย
.
แต่เพื่อให้ได้เส้นทางที่สเถียรและมีประสิทธิภาพมากที่สุด ทีมนักดาราศาสตร์และนักวิจัยก็คงต้องคำนวนหาเส้นทางที่เหมาะสมกันต่อไป และไม่แน่ว่าวันหนึ่งเราอาจมีโอกาสได้เดินทางไปยังดาวเคราะห์ดวงอื่นในระยะเวลาสั้นๆ เหมือนกับการเดินทางไปต่างจังหวัดหรือต่างประเทศก็ได้
.
แล้วเพื่อนๆ ล่ะมีความคิดเห็นอย่างไรกันบ้างคะ มีใครอยากลองขึ้นทางด่วนอวกาศเหล่านี้กันดูบ้างมั้ย และถ้าหากใครชื่นชอบบทความสาระดีดีอย่างนี้ ก็อย่าลืมกดไลก์และติดตามเฟซบุ๊กแฟนเพจ eduHUB ไว้ เพื่อจะได้ไม่พลาดบทความและคลิปใหม่ๆ ของพวกเราด้วยนะคะ
.
สนับสนุนโดย chatBEE แอพที่คนเหงาเค้าโหลดกัน ค้นหาคนรู้ใจใกล้คุณ ดาวน์โหลดได้แล้ววันนี้ทั้ง IOS และ Andriod